GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เผย ผลขั้นต้นการศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ เป็นไปในทิศทางดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

April 26 2024
ขนาดตัวอักษร

องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เผย ผลขั้นต้นการศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ หลายอาการพบว่าเป็นไปในทิศทางดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง อาการปวดของผู้ป่วยดีขึ้น อยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอนหลับดีขึ้น  และการศึกษาในห้องแล็ปพบแนวโน้มว่าการใช้ THC ร่วมกับ CBD น่าจะให้ผลดีต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็ง และ มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองต่อไป                                                      
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล  ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่าจากที่องค์การฯได้กระจายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ให้กับระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ผ่านโครงการวิจัยและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆทั้งภาครัฐและเอกชน มาตั้งแต่ เดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งองค์การฯได้มีการติดตามประสิทธิผลการใช้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้แก่แพทย์ผู้สั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ ใช้ประกอบในการวินิจฉัยและให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นมาตรฐานและแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเอง


ล่าสุดได้มีการรายงานผลการศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯ โดยการศึกษาในกลุ่มโรคและภาวะที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ โดยสถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ติดตามประสิทธิผลการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา GPO CBD เด่น ในผู้ป่วยเด็กโรคลมชักรักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา (intractable epilepsy) 16 ราย ผลการศึกษาพบว่าสามารถควบคุมอาการชักในผู้ป่วย 10 ราย (62%) และผลการประเมินของผู้ดูแลคิดว่าอาการชักดีขึ้น โดยมีคะแนนประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 7 คะแนน นอกจากนั้นสถาบันประสาทวิทยายังได้ติดตามประสิทธิผลการใช้ GPO THC:CBD (1:1) ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน จำนวน 7 ราย จากการประเมินโดยแพทย์มีผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นจำนวน 5 ราย ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินโดยผู้ป่วยว่าอาการเกร็งและอาการปวดดีขึ้นหลังได้รับสารสกัดกัญชา โดยมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 คะแนน  จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน


ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (palliative care) ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ดำเนินโครงการการวิจัยเพื่อติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลกัญชาทางการแพทย์ ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการ 14 ราย และได้รับผลิตภัณฑ์ GPO THC:CBD (1:1) เฉลี่ยอยู่ที่ 1-3 หยดต่อวัน ต่อเนื่อง  3 เดือน พบว่าอาการปวดของผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีระดับอาการ (pain score) ลดลงกว่า 50% จากตอนเริ่มต้น มีความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีอาการนอนหลับดีขึ้น  อย่างไรก็ต้องมีการติดตามการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งอย่างใกล้ชิด รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมในด้านประสิทธิผลและความคุ้มทุนของแต่ละสภาวะปัญหา ในส่วนของการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งจัดอยู่กลุ่มโรคและภาวะที่น่าจะได้ประโยชน์โรงพยาบาลสกลนครได้ดำเนินติดตามผลการรักษาและความปลอดภัยในผู้ป่วยพาร์กินสัน 16 ราย จากการประเมินความสามารถทางความคิด กิจวัตรประจำวัน และความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยหลังจากได้รับผลิตภัณฑ์ GPO THC:CBD (1:1) เป็นเวลา 3 เดือนพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและส่วนใหญ่มีการนอนหลับและคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยไม่พบผลกระทบต่อความจำของผู้ป่วย แม้ว่าผลการศึกษาเบื้องต้นจะมีแนวโน้มในทางที่ดี แต่ควรมีการศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยพาร์กินสันในระยะยาวต่อไป

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ยังกล่าวต่อไปว่า ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคและภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ดำเนินการวิจัยประสิทธิผลของสารสกัดกัญชาต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ขององค์การเภสัชกรรม พบว่า THC และ CBD มีผลต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งแตกต่างกัน และพบแนวโน้มว่าการใช้ THC ร่วมกับ CBD น่าจะให้ผลดีต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม ตับอ่อน และท่อน้ำดี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองต่อ    

                                                 
นอกจากนั้น ยังมีผลของคลินิกกัญชาทางแพทย์ ของกรมการแพทย์ ที่ให้บริการสำหรับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย โดยมีการใช้ GPO THC ขนาด 0.5-5 mg ต่อวัน ควบคู่ไปกับการใช้ยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เดิมร่วมด้วย จากการประเมินในผู้ป่วย 42 รายที่มีการติดตามครบระยะเวลา 1 เดือน พบว่าอาการปวด เบื่ออาหาร  และนอนไม่หลับดีขึ้น แสดงให้เห็นว่า การใช้ THC ในขนาดต่ำๆ  มีความปลอดภัยและสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้   และจากการติดตามผลการใช้กับผู้ป่วยที่มาใช้บริการของคลินิกกัญชาทางแพทย์ ของสถานพยาบาลต่างๆ ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และ ออริจีน สหคลินิก พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการตอบสนองต่อการรักษาที่ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาการข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง สับสน มึนงง ปวดศีรษะ ใจสั่น และคลื่นไส้อาเจียน

​ “อย่างไรก็ตามผลการศึกษาที่ได้รับรายงานมานั้นเป็นเพียงผลการศึกษาในขั้นต้นเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าผลการใช้เป็นไปในทิศทางที่ดี ช่วยลด บรรเทาอาการ ต่าง ๆได้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยและคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์องค์การเภสัชกรรม ซึ่งยังคงต้องดำเนินการศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และติดตามประสิทธิผลการใช้และความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งนี้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมเป็นผลิตภัณฑ์เกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade ที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Safety) มีสารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ของยาสม่ำเสมอ (Consistency) และมีประสิทธิภาพ (Efficacy)” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวในตอนท้าย