องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

มาตรฐานและการรับรองคุณภาพ

22 ตุลาคม 2563
ขนาดตัวอักษร

การวิจัยและพัฒนา

          องค์การเภสัชกรรมได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา โดยจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาของตนเองขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ วิจัยและพัฒนาเภสัชกรรม (Pharmaceutical research and development), วิจัยเภสัชเคมีภัณฑ์ (Pharmaceutical chemistry research), วิจัยอุตสาหกรรมเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural product and pharmaceutical raw material research), วิจัยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology research), วิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์(Medical Science research), วิจัยมาตรฐานสมุนไพร (Phytochemical research) และมีกลุ่มสนับสนุนงานวิจัย (Research promotion group) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มงานบริหารวิชาการ (Technical support unit), กลุ่มงานด้านศูนย์ข้อมูลสิทธิบัตรยา (Drug patent information center) และกลุ่มงานด้านธุรการ (Administration unit) เป็นกลุ่มงานที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการวิจัยมีความคล่องตัวมากขึ้น

          การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับงานวิจัย ซึ่งจะต้องพึ่งตนเองให้มากใน ทุกสาขาวิชา และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่โรงงานผลิตยาในประเทศ อันจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ

 

การประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์

          องค์การเภสัชกรรมมุ่งมั่นผลิตยาตามมาตรฐานวิธีการผลิตที่ดี สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสากล สนองความต้องการของลูกค้า โดยมีกลไกที่สำคัญคือ ระบบการประกันและควบคุมคุณภาพที่เข้มแข็ง และเป็นอิสระ

          ฝ่ายประกันคุณภาพได้สร้างระบบคุณภาพและมีการบริหารจัดการระบบคุณภาพ โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกและควบคุมวัตถุดิบบรรจุภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการผลิต การปฏิบัติงานที่ยึดมั่นในหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ซึ่งเกี่ยวเนื่องตั้งแต่การออกแบบสถานที่ผลิต การดำเนินการผลิต การตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องมือเครื่องจักร ขบวนการผลิต วิธีวิเคราะห์การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การติดตามความคงตัวของผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดการกับการเบี่ยงเบนในการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด การตรวจติดตามด้านคุณภาพ การให้ความสำคัญกับข้อร้องเรียนของลูกค้า ซึ่งทำให้ระบบคุณภาพโดยรวมมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

          องค์การเภสัชกรรมได้รับการรับรองมาตรฐานวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 จนถึงปัจจุบัน และจะมุ่งมั่นพัฒนาด้านคุณภาพต่อไป เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานการผลิตในระดับสากล โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

มาตรฐานด้านอื่นๆ

* มาตรฐาน ISO/IEC 17025 กองสอบเทียบและทดสอบ องค์การเภสัชกรรม

ข้อมูลโดย กองประชาสัมพันธ์