GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

อภ.เดินหน้ากัญชาเมดิคัลเกรดรูปแบบ “Greenhouse”

March 29 2024
ขนาดตัวอักษร

      “ขณะนี้กำลังเตรียมแผนในการปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดรูปแบบ กรีนเฮ้าส์ (Greenhouse)  ซึ่งเป็นการปลูกแบบเรือนกระจก มีการใช้แสงจากธรรมชาติ ทำให้ประหยัดค่าไฟ เพราะไม่ต้องเปิดไฟตลอดเวลาเหมือนปลูกในโรงเรือนระบบปิด ช่วยลดต้นทุนได้ 7-8 เท่า ตอนนี้กำลังศึกษา เรื่องสเปกเพื่อให้ได้ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้จะสรุปและดำเนินการได้ในปี 2563”   นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ให้ข้อมูลถึงทิศทางการดำเนินการกัญชาเมดิคัลเกรดภายหลังการปลูกในโรงเรือนระบบปิด

     นพ.โสภณ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจาก อภ.ได้เริ่มปลูกต้นอ่อนกัญชาในโรงเรือนระบบปิดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปลูกระยะแรก และล่าสุดได้มีการเก็บเกี่ยวดอกกัญชาเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อเตรียมสกัดน้ำมันกัญชาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 อภ. ยังมีแผนดำเนินการปลูกและผลิตกัญชาทางการแพทย์ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 อีก  โดยระยะที่ 2 คือ การเตรียมการในการปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดรูปแบบกรีนเฮ้าส์(Greenhouse)  ซึ่งเป็นระบบปลูกคล้ายเรือนกระจก มีการใช้แสงจากธรรมชาติ ทำให้ประหยัดค่าไฟ ไม่ต้องเปิดไฟตลอดเวลาเหมือนการปลูกในโรงเรือน หากทำได้ก็จะลดต้นทุนได้ 7-8 เท่า 

   ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องสเปกกรีนเฮ้าส์  โดยศึกษาว่า จะใช้เทคนิคไหนที่จะลดความชื้นได้  และสเปกไหนที่จะไม่ร้อนจัด เพราะอุณหภูมิบ้านเรา 40 องศาเซลเซียล หากไปอยู่ในกรีนเฮ้าส์ร้อนมากไป ต้นอาจเหี่ยวแห้งก็มีปัญหาอีก แต่หากใช้เครื่องปรับอากาศให้เย็น แต่เกิดความชื้นสูงก่อเชื้อราจะทำอย่างไร จึงต้องดูสเปกและเทคนิคให้เหมาะสม โดยมอบ รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ 

     เมื่อถามว่า กัญชาทางการแพทย์กลายเป็นกระแสที่ถูกจับให้เป็นธุรกิจทางการแพทย์ ทางองค์การเภสัชกรรมมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้อย่างไร ประธานบอร์ด อภ.ให้ข้อคิดเห็น ว่า  อันดับแรกเราต้องมองว่า องค์การฯ ขายอะไร ก็แน่นอนว่า เราเน้นเรื่องยารักษาโรค ซึ่งสารสกัดจากกัญชาก็นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  รองลงมาอย่างในต่างประเทศก็จะมีการจำหน่ายซีบีดีผสมในเครื่องสำอาง  ในมุมนี้เราก็ต้องมาเตรียมพร้อมว่าจะมีการพัฒนาส่วนนี้ด้วยหรือไม่

     นพ.โสภณ กล่าวว่า  ในส่วนซีบีดีนั้น องค์การอนามัยโลกเตรียมเสนอสหประชาชาติ ปลดล็อกสารซีบีดีออกจากยาเสพติดในปี 2563 ก็ต้องรอดูว่าทางสหประชาชาติจะเห็นชอบหรือไม่ หากผ่านตัวซีบีดี หรือที่มีสารทีเอชซีต่ำกว่า 0.2  เปอร์เซ็นต์ก็จะปลูกในวิสาหกิจชุมชนได้มาก เพียงแต่เราจะมีสายพันธุ์ตามที่กำหนดหรือไม่ วันนี้เรามีสายพันธุ์ซีบีดีแบบกัญชง ที่เน้นเส้นใย เราคงต้องเอากัญชาที่มีซีบีดีสูง และจะทำอย่างไรให้พัฒนาสายพันธุ์จนปลูกกลางแจ้งได้

    หากทำได้ในอนาคตเราอาจจำหน่ายต้นอ่อนหรือเมล็ดที่มีซีบีดีสูงก็ได้ ซึ่งก็จะทำเป็นสัญญาร่วมกับเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชน คล้ายๆคอนแทร็กฟาร์มมิ่งก็เป็นได้ เพียงแต่ขณะนี้เราต้องเตรียมตัวและเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นเป้าหมายที่เราต้องทำให้ได้ ทั้งตัวยากัญชา สารสกัดซีบีดีเพื่อทำเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และต้นอ่อนหรือเมล็ด แต่ทั้งหมดทั้งปวงตอนนี้ต้องวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ก่อนต้องทำให้ได้ภายใน 1 ปี เพื่อให้ได้สายพันธุ์ซีบีดีสูง

       “ถ้าเราพัฒนากัญชาซีบีดีสูงได้ ในอนาคตเราก็สามารถทำสัญญากับเกษตรกรที่อยู่ในวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถนำเมล็ดหรือต้นอ่อนกัญชาที่มีซีบีดีสูงไปปลูก และเมื่อได้ผลผลิต ทางองค์การฯ ก็จะรับซื้อมา แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขให้ได้สารมาตรฐานทางการแพทย์ ที่ผ่านมาเราก็เคยทำลักษณะนี้เหมือนการทำขมิ้นชันก็จะคล้ายๆ กัน ดังนั้น เราสามารถใช้โมเดลนี้ได้” นพ.โสภณ กล่าว

       เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวหากวิสาหกิจชุมชนใดสนใจจะต้องดำเนินการอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า จะมีขั้นตอนดำเนินการอยู่ที่เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ซึ่งก่อนจะร่วมมือกันก็มาคุยกับทางองค์การเภสัชกรรมก่อน เมื่อคุยกันแล้วเราก็จะไปยื่นขออนุญาตกับทาง อย. หรือทางอย.อาจจับคู่องค์การเภสัชกรรมกับทางวิสาหกิจชุมชนก็ได้ ทั้งหมดอยู่ที่การพุดคุย ซึ่งหากทำได้ก็จะดีมาก เพียงแต่วันนี้เราต้องหาเทคโนโลยีในการปลูกกลางแจ้ง ปลูกกรีนเฮ้าส์ให้ได้ก่อน มีเมล็ดพันธุ์มีต้นอ่อนที่ได้สารที่เหมาะสมก่อน

       อย่างไรก็ตาม หากวิสาหกิจชุมชนจะปลูกต้นอ่อนเอง และองค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่รับซื้อก็ย่อมทำได้ เพียงแต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ของ อภ.  เช่น  ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีโลหะหนัก และจะมีสเปกกำหนดว่าตัวสารทีเอชซี ซีบีดีต้องเท่าไหร่ เป็นต้น

      “เห็นได้ชัดว่าทั้งหมดที่เราดำเนินการไม่ได้เป็นการผูกขาดใดๆ ผู้อนุญาตก็เป็น อย. ใครจะปลูกหรือผลิต หรือทำอะไรเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ก็ต้องขออนุญาต และกฎหมายก็ระบุชัดว่า วิสาหกิจชุมชนสามารถปลูกได้แต่ต้องร่วมกับภาครัฐ หรือมหาวิทยาลัย  เพราะฉะนั้น เราไม่มีสิทธิไปผูกขาด ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปีก็ไม่ต้องร่วมกับภาครัฐ และจะมีการประเมินทุก 6 เดือน แต่ทุกวันนี้ก็เกิดพาร์ทเนอร์จับคู่กันเยอะมาก เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็เดินหน้าเรื่องนี้ ก็จะเห็นว่าไม่มีการผูกขาดใดๆ” นพ.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย