GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

เปิดหน้าที่คณะกรรมการจัดระบบบริการ กัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล

March 29 2024
ขนาดตัวอักษร

   “คณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่จัดระบบบริการยากัญชาทั้งยาแผนไทย และแผนปัจจุบันที่ใช้ในทางการแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ...” นพ.โสภณ เมฆธน  ที่ปรึกษาคณะกรรมการการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล กล่าวถึงหน้าที่หลักในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้

          คณะกรรมการการจัดระบบบริการกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล เป็นคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 768/2562 ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา   โดย มีนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน และมีนพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ และมีกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งหมด 14 ท่าน อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) องค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์   กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต เป็นต้น  ทำหน้าที่วางระบบและพัฒนาการบริการ การติดตาม และการรายงานกัญชาในสถานพยาบาล เพื่อให้สถานพยาบาลทั่วประเทศมียากัญชาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความปลอดภัย ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอ มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง และเป็นระบบ รวมทั้งป้องกันไม่ให้รั่วไหลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้น

          นพ.โสภณ อธิบายเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การจัดระบบบริการยากัญชาทั้งยาแพทย์แผนไทยและยาแพทย์แผนปัจจุบันที่ใช้ในสถานพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสมรัดกุม และเกิดประโยชน์มากที่สุด เรียกว่าเป็นการทำงานแบบครบวงจรเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วครั้งที่ 1 โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน  และมีกรรมการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง   ดำเนินการพิจารณาติดตามการทำงานในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด ครอบคลุมกัญชาทั้งตำรับแพทย์แผนไทย และกัญชาทางการแพทย์สำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน โดยพิจารณาทั้งในส่วนของปริมาณกัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตจะต้องเพียงพอกับปริมาณความต้องการ

          รวมทั้งในเรื่องการสั่งจ่ายต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยมอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมแพทย์และเภสัชกร ขณะที่เมื่อสั่งจ่ายแล้วก็ต้องมีการติดตามผู้ป่วย ว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่ หรือประสิทธิการรักษาดีอย่างไหร่ เป็นต้น

      ส่วนประเด็นผลข้างเคียงจากการใช้ยากัญชานั้น  นพ.โสภณ กล่าวว่า  อาจต้องมีหน่วยงานกลางขึ้นมาดูแล เพราะอย่างต่างประเทศก็มีการดำเนินการ เช่น อิสราเอล จะมีระบบตรวจสอบติดตามได้ทั้งหมด ซึ่งหน้าที่ตรงนี้จะอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพียงแต่จะต้องทำงานร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย ควบคุมการใช้อย่างครบวงจร โดยอย.เป็นคนคุมระบบใหญ่ แต่ก็จะมีภาคีเครือข่ายต่างๆคอยช่วยดำเนินการ 

           ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ ทางอย.มีระบบรายงานให้ผู้ป่วยรายงานเอง ผ่านเว็บไซต์ของ อย. ซึ่งก็มีคนรายงานเข้ามาเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่ก็จะคลื่นไส้ เวียนหัว นอกจากนี้ อย.มีช่องทางเดิมสำหรับการรายงานระบบยาต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับเภสัชกรในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ก็จะให้รายงานสำหรับกัญชาแยกต่างหาก ซึ่งสามารถเข้าไปรายงานได้ รวมไปถึงช่องทางการรายงานในกลุ่มวิจัย ที่เรียกว่าการรักษาผ่านช่องทางพิเศษ หรือ Special Access  Scheme : SAS   ก็จะมีการรายงานผ่านช่องทางพวกนี้เข้ามา ซึ่งจะมี 3 ช่องทางหลัก

          เมื่อถามว่า จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเฉพาะหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า ต้องดูนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก่อน แต่เนื่องจาก อย. เป็นหน่วยงานควบคุมยาเสพติด จึงต้องรายงานต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงเหมือนเป็นหน่วยงานกลายๆในการดูแล แต่จริงๆ บทบาทอาจคาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน แต่การจะมีหน่วยงานกลางหรือไม่ก็ต้องรอดูนโยบายก่อน ดังนั้น หากผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์มีผลข้างเคียงใดๆ ก็สามารถแจ้งมาที่เว็บไซต์กลางของ อย.ได้ 24 ชั่วโมง แต่จริงๆ สามารถไปที่โรงพยาบาลที่ทำการรักษาได้เช่นกัน เพราะถ้าไปที่โรงพยาบาล ก็จะมีระบบแจ้งเข้ามายัง อย. ให้ทราบข้อมูลด้วย

           รองเลขาธิการ อย. ยังทิ้งท้ายถึงผู้ที่ใช้กัญชาแล้วรับผลข้างเคียง ว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทดลองใช้ ไม่มีแพทย์สั่งจ่าย ทำให้มีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หัว เนื่องจากตัวยาอาจทำให้ความดันเลือดต่ำลงได้ ทำให้น้ำตาลต่ำ ก็คล้ายกินยาแก้แพ้ จะมึนเวียนก็เป็นได้ เพราะยาทุกตัวมีผลข้างเคียงอยู่แล้ว  แต่ในกลุ่มที่เคยใช้ กลุ่มนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะใช้มานาน มีการปรับตัว ดังนั้น การใช้ยากัญชาต้องระวัง เพราะถ้าไม่รู้ขนาด ไม่รู้โรคก็เกิดปัญหาได้ ยิ่งหากรุนแรงมากๆ ก็เคยมีรายงาน อย่างกรณีผู้ป่วยเส้นเลือดตีบอยู่แล้วก็อาจเสี่ยงเป็นอัมพาตได้  หรือกรณีเส้นเลือดหัวใจตีบก็เสี่ยงหัวใจขาดเลือด ดังนั้น การใช้ต้องเข้าใจโรคที่เป็น และเข้าใจโรคที่อาจเกิดจากกัญชาด้วย