องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

กัญชาทางการแพทย์กับมาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี GLP (Good Laboratory Practices)

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        “องค์การเภสัชกรรม กำลังจัดระบบบิ๊กดาต้า ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ เช่น หากผู้ป่วยนำกัญชาทางการแพทย์ไปใช้แล้วเกิดผลข้างเคียง ก็จะมีโปรแกรมให้ทางโรงพยาบาลรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยจากการใช้ยากัญชา รวมทั้งยังมีข้อมูลอื่นๆที่สามารถติดตามการใช้กัญชาได้อย่างครบวงจร” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.)  กล่าว

        ดร.ภญ.นันทกาญจน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบข้อมูลต่างๆ จะเป็นการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถติดตามสอบกลับข้อมูลได้หมด เช่น หากพบผลข้างเคียงใดๆ จากการใช้กัญชา ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามาจากน้ำมันกัญชาขวดไหน ล็อตไหน  เนื่องจากตั้งแต่การปลูก ต้นกัญชาแต่ละต้นจะมีการใส่รหัสเอาไว้  ทำให้สืบค้นได้หมด ซึ่งระบบนี้มาจากการประยุกต์ระบบการผลิตยาทั่วไป  โดยระบบเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี หรือ  GIP (Good Information Practices)

 

        “มาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี หรือ  GIP จะทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นระบบ โดยเฉพาะติดตามการใช้ยากัญชาได้ทุกขั้นตอน ยกตัวอย่าง  เราจะทราบว่า ผู้ป่วยกลุ่มไหนได้รับยาล็อตไหน ซึ่งหากได้รับผลข้างเคียง เราก็จะทราบทันทีว่า มาจากยาล็อตอะไร อย่างไร  เนื่องจากหากผู้ป่วยรับยากัญชาแล้วมีปัญหา ทางแพทย์ก็จะคีย์ข้อมูลเข้าระบบ  ทางองค์การเภสัชกรรมก็จะคีย์หมายเลขที่มีการใส่รหัสไว้ ก็จะทำให้เราสามารถสืบค้นได้ว่า ยาตัวนี้ผลิตจากสายพันธุ์ไหน รุ่นไหน เรียกว่า ตรวจสอบย้อนกลับได้หมด”  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา  กล่าว

        ไม่เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าว ยังมีข้อมูลอื่นๆที่เป็นไปตามมาตรฐาน GIP   อย่างประเด็นการเขาถึงยา มีผู้ป่วยจำนวนมากน้อยแค่ไหน  รวมไปถึงข้อมูลการปฏิบัติงาน การเข้าถึงข้อมูลกัญชาอนุญาตให้บุคคลใดเข้าถึงได้บ้าง  ซึ่งจะมีการกำหนดผู้เข้าถึงตามความสำคัญ  เช่น ระดับผู้บริหาร หรือระดับปฏิบัติการ เป็นต้น เพื่อป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง  ตรงนี้จะเป็นข้อมูลภายในขององค์การเภสัชกรรม

        ส่วนข้อมูลที่จะเชื่อมโยงไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลต้นกัญชาที่ปลูก สารสกัดที่ได้ รายการการใช้ยากัญชาต่างๆ รวมไปถึงเหลือยากัญชาจำนวนเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน โดยองค์การเภสัชกรรมต้องรายงานให้ อย.ทราบทุกเดือน  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้องค์การเภสัชกรรม จะจัดทำเป็นบิ๊กดาต้าในอนาคต และจะมีการเชื่อมข้อมูลให้ทาง อย.เข้ามาดูได้เอง แต่จะมีสิทธิเปิดดูได้แค่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อย. เท่านั้น ซึ่งกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่  คาดว่าจะสมบูรณ์ภายใน 1-2 ปี 

        อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรม มีการผลิตยา ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีมาตรฐานการผลิตอยู่แล้ว หลักๆ ก็จะมีมาตรฐานการการปฏิบัติการด้านการผลิตอาหารที่ดี หรือ GMP (Good Manufacturing Practice)    และมาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี หรือ  GLP (Good Laboratory Practices) เป็นต้น  เพียงแต่เมื่อมาผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ก็ต้องมีมาตรฐานต่างๆเพิ่มขึ้น  ซึ่งหลักๆ จะมีมาตรฐาน 7 G   ซึ่งมาตรฐาน 7 G ก็จะอยู่ GMP อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อทำเรื่องกัญชาก็จะทำให้โดดเด่นขึ้นมา

สำหรับ มาตรฐาน  7 G  ประกอบด้วย    

    GAP : Good Agricultural Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี

    GLP : Good Laboratory Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี

    GMP: Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาที่ดี

    GCP : Good Clinical Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี

    GDP : Good Distribution Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการจัดส่งยาที่ดี

    GSP : Good Security Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานด้านการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี

    GIP : Good Information Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี