องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

“กัญชาเมดิคัลเกรด” กับการศึกษาวิจัยในมนุษย์

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        “การผลิตน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด ล้วนผ่านมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่การปลูก ผลิต การขนส่ง แต่รวมทั้งในเรื่องของการวิจัยทางคลินิก หรือการทดลองในมนุษย์ล้วนต้องมีมาตรฐานทั้งสิ้น มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง คือ  มาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี  หรือ GCP (Good Clinical Practices)” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.)  กล่าวถึงมาตรฐานที่ใช้ในการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ในมนุษย์

 

        ในการดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี หรือ   GCP นั้น จะเป็นความร่วมมือในส่วนของสถานพยาบาลที่มีการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สถานพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือสถานพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมสามารถร่วมมือได้หมดขึ้นอยู่กับโครงการความร่วมมือนั้นๆ   

        ดร.ภญ.นันทกาญจน์ อธิบายเพิ่มว่า ปัจจุบันการใช้กัญชารักษาโรค ยังมีข้อมูลไม่มากพอ ยิ่งกรณียารักษามะเร็ง ซึ่งเป็นกลุ่มตามข้อบ่งใช้ทางการแพทย์กลุ่ม 3  ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจมีประโยชน์ทางการรักษาในอนาคต แต่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม  ดังนั้น หากจะมีการศึกษาวิจัยต้องทำตามกติกาที่เป็นมาตรฐาน  GCP เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์และอาสาสมัครจะได้รับความคุ้มครองด้วย เนื่องจากจะมีการดำเนินการตามจริยธรรมทั้งหมด  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง อภ. มีความร่วมมือตรงนี้อยู่ ทั้งในส่วนของสถานพยาบาลกรมการแพทย์ เช่น สถาบันประสาทวิทยา  ซึ่งจะมีความร่วมมือกับสมาคมโรคลมชักในเด็ก ในการศึกษาวิจัย และจะมีผู้ป่วยเด็กที่มีอาการชักตลอด และอยู่ในห้องไอซียู ตรงนี้สามารถทำการวิจัยทางคลินิกได้ก็จะเข้าตามข้อกำหนดมาตรฐานพอดี  

 

        ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า  ขณะเดียวกันสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะเอาสารสกัดของทางองค์การเภสัชกรรมบางส่วนไปทำการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง ที่เรียกว่า Palliative care นอกจากนี้ ยังมีความสนใจร่วมมือกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะเอาสารสกัดกัญชาไปใช้ในผู้ป่วยประคับประคองเช่นกัน ซึ่งขณะนี้กำลังประสานงานกันอยู่ โดยหลังจากความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้น ทางองค์การเภสัชกรรม จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยในคลินิกตามมาตรฐาน GCP  ซึ่งต้องมีการออกแบบโครงการวิจัยให้มีความละเอียด โดยกลุ่มวิจัยที่เหมาะสมกับการทำมาตรฐาน GCP   จะเหมาะกับการรักษากลุ่มที่ 3   เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องวิจัยให้ชัดเจน ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็ได้เช่นกัน เพียงแต่จะไม่เข้มมากเท่ากลุ่มที่ 3

 

        “ไม่ใช่ว่าทุกโครงการต้องทำถึงขั้นมาตรฐาน GCP  เพราะขึ้นอยู่กับระดับการวิจัย บางระดับไม่ต้องถึงขั้นนี้  อย่างกลุ่มโรคที่ 1 ที่มีข้อมูลงานวิจัยชัดเจนว่ามีประโยชน์ใน 4 โรค คือ 1. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 2. ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล 3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง  และ4. ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล โดยกลุ่มนี้ก็อาจเพียงนำไปใช้และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งจะแตกต่างจากการทำโครงการตามมาตรฐาน GCP” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าว

 

        เมื่อถามถึงขั้นตอนการทำโครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐานการวิจัยในคลินิก GCP จะต้องดำเนินการอย่างไร  ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า หากจะทำโครงการตามมาตรฐาน GCP เริ่มแรกต้องเขียนโครงการรายละเอียดต่างๆก่อน และขออนุมัติโครงการจากคณะกรรมการจริยธรรมการศึกษาในมนุษย์ เมื่อผ่านการอนุมัติก็จะมีการประกาศว่า ใครที่จะยินดีเข้าร่วมโครงการ เมื่อเข้ามาก็อ่านเงื่อนไขต่างๆ หากยินดีก็จะลงนาม จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการของโรคนั้นๆ  ซึ่งจะมีการตรวจ บันทึกให้ยา และติดตามผล  บางโครงการอาจมีการเจาะเลือดติดตามอาการ ขึ้นอยู่กับโครงการนั้นๆ 

        อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นระบบการเก็บข้อมูล การปฏิบัติต่ออาสาสมัคร โดยอาสาสมัครสามารถออกจากโครงการได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด  โดยทั้งหมดล้วนเป็นไปตามมาตรฐาน GCP หรือมาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี