องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

แนวทางการศึกษาวิจัยการใช้กัญชาเมดิคัลเกรด กับโรคสมองเสื่อม

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

          “สำหรับกลุ่มที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ และต้องมีการศึกษาวิจัยนั้น ขณะนี้ทางสถาบันฯ ได้เตรียมศึกษาใน 3 โรค คือ โรคพาร์กินสันที่ควบคุมอาการไม่ได้ โรคปวดประสาทใบหน้า และโรคสมองเสื่อมที่มีภาวะทางจิต...”  พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการศึกษาวิจัยน้ำมันกัญชารักษาโรคในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์ในอนาคต

          พญ.ทัศนีย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การศึกษาการใช้น้ำมันกัญชาสำหรับรักษาโรคทางระบบประสาท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 การใช้กัญชารักษาผู้ป่วยที่มีงานวิจัยรองรับแล้วว่ารักษามีประโยชน์ มี 2 โรค คือ ลมชักในเด็กที่ดื้อต่อการรักษา และ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกหุ้มประสาทอักเสบส่วนกลาง ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นการให้ยากัญชาในผู้ป่วย ร่วมกับการใช้ยารักษาปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อดูประสิทธิภาพในการบรรเทาโรคและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน หรือวิจัยเพิ่มเติม ในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ ทางสถาบันฯ จะมีการศึกษาวิจัยใน 3 โรค คือ 1. โรคพาร์กินสัน ที่ควบคุมอาการไม่ได้ 2. โรคปวดประสาทใบหน้า และ 3. โรคสมองเสื่อมที่มีโรคจิต หรือภาวะทางจิต ร่วมด้วย 

          พญ.ทัศนีย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มโรคสมองเสื่อมที่มีอาการทางจิตประสาทร่วมด้วยนั้น การศึกษาวิจัยในกลุ่มนี้ ทางสถาบันฯ เป็นผู้คัดเลือกผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ เช่น ควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ มีภาวะประสาทหลอน วุ่นวาย อาละวาด การนอนผิดปกติ ที่ไม่ตอบสมองต่อยาควบคุมอาการทางด้านจิตประสาทและมีความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมในระยะปานกลาง ส่วนอายุก็เหมือนกับการวิจัยกลุ่มโรคพาร์กินสัน และโรคปวดประสาท คือ มีอายุ 21 ปีขึ้นไป เพราะจะต้องมีการลงนามในใบยินยอมเข้าสู่การวิจัย และมีพยานที่เป็นแพทย์ผู้ทำการรักษาอยู่เดิม และญาติ 1 คน ส่วนถ้าเกิดปัญหาผู้ป่วยสามารถถอนตัวออกจากการวิจัยได้ทุกเมื่อ

  “ จากแผนคาดว่าจะดำเนินการวิจัยประมาณ 100 คน โดยทั้งหมดเป็นผู้ป่วยของทางสถาบันประสาทวิทยาเอง โดยในจำนวนกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย 100 คน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก 50 คน จะได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคปัจจุบันที่มีการใช้อยู่แล้ว ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 50 คน จะได้รับยารักษาโรคตัวเดิมและได้รับยากัญชาหลอก เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพและประสิทธิผล ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตศึกษาวิจัยในมนุษย์ น่าจะได้รับการอนุมัติในเร็วๆ นี้” พญ.ทัศนีย์ กล่าว

   รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำมันกัญชาที่จะใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นสูตรทีเอชซีและซีบีดีในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เท่านั้น ดังนั้น คงไม่สามารถไปหาน้ำมันกัญชาจากแหล่งอื่นได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นกัญชาสายพันธุ์ที่มีสารทีเอชซีสูง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออาการทางจิตประสาทกำเริบได้ ดังนั้น จึงจะใช้น้ำมันกัญชาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเท่านั้น เพราะเป็นเกรดทางการแพทย์ และมีการตรวจวิเคราะห์ จัดทำสูตรที่สถาบันฯต้องการได้

                  ขณะที่ นพ.สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวย้ำถึงความพร้อมว่า เมื่อองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด และส่งมอบให้ทางกรมการแพทย์แล้ว ทางกรมการแพทย์ โดย 3 หน่วยงานในสังกัด มีสถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันโรคผิวหนัง ก็พร้อมนำไปใช้ในในโครงการศึกษาวิจัยการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยในกลุ่มที่อยู่ในข้อบ่งชี้ทันที โดยในส่วนของสถาบันประสาทวิทยา ยังมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกรมฯ เช่นกัน

 นอกจากความร่วมมือในการใช้น้ำมันกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม ที่จะผลิตได้เบื้องต้นประมาณ 2,500 ขวด อธิบดีกรมการแพทย์ ยังบอกว่า ล่าสุดกรมฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นหน่วยงานปลูกกัญชาแห่งละหมื่นกว่าต้น โดยเป็นการปลูกในระบบกรีนเฮ้าส์ (Greenhouse) คล้ายๆการปลูกแบบเรือนกระจก มีการควบคุมแสง  ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วเช่นกัน