องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

องค์การเภสัชกรรม...กับก้าวสำคัญ ขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผู้ป่วยไทย

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

 



       หลังจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้สามารถใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้  แต่ต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข กฎระเบียบต่างๆ ที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  ส่งผลให้หน่วยงานวิจัยต่างๆที่สนใจต้องดำเนินการขออนุญาต การปลูก การวิจัย การผลิตสารสกัดทางการแพทย์มายัง อย.

       หนึ่งในนั้น คือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หรือที่เรียกสั้นๆว่า GPO มีการดำเนินการขออนุญาตเพื่อทำการปลูก ผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เช่นกัน อย่างล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวการปลูกต้นอ่อนกัญชาภายในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งถูกกฎหมายแห่งแรกในอาเซียนและประเทศไทยและเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ในเดือนกรกฎาคม 2562

หลายคนเกิดคำถามว่า เพราะเหตุใด? องค์การเภสัชกรรม องค์กรหลักด้านยาของประเทศ
จึงต้องเข้ามามีบทบาทและเกี่ยวข้องกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์...

  นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เริ่มอธิบายด้วยการย้อนไปถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพืชเสพติดที่ใช้ทางยา  ซึ่งหนึ่งในนั้นมีกัญชาและกระท่อม ว่า

“องค์การฯได้ส่งผู้แทน คือ ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเข้าร่วมประชุม ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้แทนทั้งแพทย์ ผู้ป่วย มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรคด้วยสารสกัดกัญชา  ทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยก็มีความต้องการ ส่วนแพทย์ก็พร้อมจะใช้ ซึ่งในองค์ประกอบมีเพียงผู้ป่วย และแพทย์ แต่ยังขาดเภสัชกรในการผลิตยาขึ้น   เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยก็เสาะแสวงหาเอง  ทางองค์การฯ จึงได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งองค์การฯ มองว่า กัญชาเป็นพืชที่มีศักยภาพในการทำเป็นยาได้  ประกอบกับองค์การฯ   เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิตยา  เพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา จึงน่าจะเหมาะสมที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้”

       หลังจากนั้นทางทีมองค์การฯ ได้มีการค้นคว้าหาข้อมูลจากนานาประเทศว่า มีการใช้กัญชาทางการแพทย์หรือไม่ ซึ่งปรากฎว่ามี และทางองค์การฯ ก็มีพันธมิตรในการช่วยเหลือ ทำงานเป็นเครือข่ายฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน กระทั่งแน่ชัดว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์จริง และเกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา

       ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม  กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การฯ มีการทำงานเป็นเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งยังมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และได้จัดประชุมขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  มาเป็นประธานเปิดการประชุม  ขณะเดียวกันทางทีมองค์การฯ  และทางกระทรวงสาธารณสุข ทางกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ได้ไปศึกษาดูงานที่ประเทศแคนาดา เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์  ทำให้ได้รับองค์ความรู้เรื่องนี้กลับมาว่า  จริงๆ แล้วกัญชา แม้จะเป็นพืช   เสพติด แต่กลับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ กระทั่งต่อมา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์จากกัญชา ที่มีนพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ด อภ.เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้”

       เมื่อมีการขับเคลื่อนเป็นขั้นตอน  อภ.จึงได้เดินหน้าและจัดทำเป็นแผนการดำเนินงานเป็นโครงการ 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นระยะการวิจัยและพัฒนา ระยะที่ 2 เป็นกึ่งอุตสาหกรรมเป็นการปลูกในโรงเรือนระบบปิดก็อยู่ในระยะนี้ และระยะที่ 3 ขยายเป็นระดับอุตสาหกรรม  เบื้องต้นตั้งเป้าจะดำเนินการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุสาหกรรมแบบครบวงจร ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี

       “ทั้งหมดทำงานคู่ขนาน แต่เป้าหมายจะแตกต่างกันไป  ระยะแรกนี้ องค์การฯ ได้เดินหน้าปลูกต้นอ่อนกัญชา มาตรฐานเมดิคัลเกรด หรือเกรดทางการแพทย์ ภายใต้โครงการปลูกต้นอ่อนกัญชา

        ในโรงเรือนระบบปิด ซึ่งเป็นครั้งแรกของอาเซียน โดยใช้สายพันธ์ลูกผสม เพื่อให้ได้สารสำคัญใน  3 กลุ่มคือ กลุ่ม THC สูงกว่า CBD  และกลุ่ม CBD สูงกว่า THC และกลุ่มที่มีสารทั้ง 2 ชนิดใน สัดส่วนเท่ากัน   1 ต่อ 1   โดยดำเนินการในโรงเรือนระบบปิด ในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ที่องค์การเภสัชกรรม คลอง 10  อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งได้เริ่มทำการปลูกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตามแผนดำเนินการ     เมื่อต้นอ่อนกัญชาออกดอก ในช่วงเดือนกรกฎาคมก็พร้อมผลิตน้ำมันกัญชาออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวทิ้งท้าย..