GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

ข้อควรระวังสารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรด กับการวิจัยโรคลมชักในเด็ก

March 29 2024
ขนาดตัวอักษร

         ถูกกล่าวถึงกันมากสำหรับความหวังในการนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์มาใช้รักษาโรคลมชักในเด็ก ความเป็นไปได้มีมากน้อยแค่ไหนในส่วนของการวิจัยพัฒนา

          เรื่องนี้  พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ อธิบายว่า หลังจากเกิดความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ กับองค์การเภสัชกรรม ในการผลิตน้ำมันกัญชาสำหรับรักษาโรคทางระบบประสาท กรณีโรคลมชักในเด็กที่ดื้อต่อยารักษาอย่างน้อย 2 ตัวขึ้นไป คือ กินยาปกติแล้วยังควบคุมอาการชักไม่ได้  เป็นต้น อย่างไรก็ตาม  สำหรับโรคลมชักในเด็กจะมีอยู่ 2 ชนิดที่มีการศึกษาแล้วว่ามีประโยชน์ในการใช้น้ำมันกัญชา คือ ชนิด Dravet และชนิด Lennox-Gastaut syndrome (LGS) ซึ่งมีความรุนแรงรักษายาก โดยจะมีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างรุนแรง ควบคุมไม่ได้จนทำให้เกิดอันตรายกับสมองและร่างกาย

 พญ.ทัศนีย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยที่สถาบันประสาทวิทยาจะพิจารณาใช้น้ำมันกัญชารักษานั้น จะเป็นผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก ดื้อยาในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ส่วนโรคลมชักผู้ใหญ่จะพิจารณาให้ในรายที่ดื้อยาและไม่สามารถผ่าตัดได้เท่านั้น โดยแพทย์กุมารประสาทวิทยาที่อยู่ในทุกโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ ภายใต้สมาคมกุมารประสาทวิทยาประเทศไทย 37 แห่ง จะมีการหารือตกลงกันเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และการพิจารณาความจำเป็นของการใช้ยาร่วมกัน เมื่อมีคนไข้กลุ่มนี้เข้ามาที่สถาบันก็จะมีการคัดกรองว่าป่วยเป็นโรคจริงหรือไม่ และนัดหมายเข้าไปสู่คลินิกที่ใช้กัญชาในการรักษาโรค อาจจะเป็นเดือนละ 2 ครั้ง

  อย่างไรก็ตาม สำหรับจำนวนกลุ่มตัวอย่างนั้นต้องรอน้ำมันกัญชาจากองค์การเภสัชกรรมก่อน ซึ่งการใช้ต้องคำนวณตามน้ำหนักตัวเทียบกับการรับน้ำมันกัญชากี่หยด ซึ่งเริ่มต้นต้องใช้ปริมาณน้อยๆ เพื่อดูการตอบสนองของผู้ป่วย

รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กล่าวต่อว่า โรคลมชักในเด็กที่รักษายากนั้น เป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อย น่าจะมีประมาณ 10-20 ราย อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันกัญชาในเด็กเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะสมองเด็กอยู่ในช่วงของการพัฒนา สูตรที่ใช้ที่มีการศึกษาแล้วว่าได้ผล คือ จะต้องเป็นน้ำมันกัญาชาที่มีสาร CBD สูง และใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์  ขณะนี้กังวลในเรื่องกระแสข่าวออกไปมาก มีคนใช้มาก ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรใช้ได้จริงหรือไม่ ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องหรือไม่ และกัญชาที่ใช้เป็นกัญชาชนิดไหน เพราะตอนนี้เริ่มได้ข่าวน้ำมันกัญชาปลอม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

  “น้ำมันกัญชาที่ใช้ในเด็กจะต้องเป็นน้ำมันกัญชาที่มี CBD สูง ไม่ควรใช้น้ำมันกัญชาที่มี THC สูงเพราะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทค่อนข้างมาก คนไข้ทางระบบประสาทถ้าได้ปริมาณเยอะๆ จะมีเรื่องของประสาทหลอน มีอาการทางจิตและอาจจะติดยาได้” พญ.ทัศนีย์ กล่าว

          รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา ยังทิ้งท้ายว่า สำหรับการใช้น้ำมันกัญชาในกลุ่มโรคลมชักในเด็กที่ดื้อต่อการรักษา ก็เพราะมีผลการศึกษาแล้วว่าใช้ได้  ดังนั้นการดำเนินการของสถาบันประสาทวิทยา  จึงจะทำลักษณะของการใช้น้ำมันกัญชากับผู้ป่วย ร่วมกับการใช้ยารักษาปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการบรรเทาโรค และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น โดยคาดว่าน่าจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม หรือเดือนสิงหาคมนี้ ภายหลังจากได้รับน้ำมันกัญชาทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรมแล้ว

   อนึ่ง สำหรับข้อบ่งชี้ในการใช้น้ำมันกัญชารักษาโรคที่เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้

    กลุ่มที่ 1 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชา ได้ประโยชน์  โดยต้องมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่การนำไปใช้ใน 4 โรค/ภาวะได้แก่ 

               1. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา

               2. ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล

               3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

               4. ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล

     กลุ่มที่ 2 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชา น่าจะมีประโยชน์ ในการควบคุมอาการของโรค ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำมาใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย และควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนและทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ ได้แก่  โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ (demyelinating disorders)  โรควิตกกังวล (generalized anxiety disorder) ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง และ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

            กลุ่มที่ 3 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชา อาจได้ประโยชน์ในอนาคต มีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลประสิทธิผล ความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้สารสกัดกัญชา โดยทำการศึกษาในขั้นหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ก่อนทำการศึกษาในคนเป็นลำดับต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงควรได้รับการรักษาตามวิธีมาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน หากเลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผลด้วยวิธีมาตรฐานได้