องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

เตือน! อันตรายใช้สารสกัดกัญชา นอกเหนือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

21 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

   แม้ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องต่างเดินหน้าวิจัยการใช้สารสกัดกัญชารักษาโรคตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังในการใช้สารสกัดกัญชา เนื่องจากไม่ใช่ว่า ผู้ป่วยทุกคนจะสามารถใช้ในการรักษาโรคได้

  เพื่อความชัดเจน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เตรียมการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยกรมการแพทย์ได้เตรียมโครงร่างวิจัยไว้แล้ว และพร้อมให้โรงพยาบาลทุกที่ ใช้โครงร่างวิจัยนี้ร่วมกับกรมการแพทย์ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังจากการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เป็นต้น

 

  “สิ่งสำคัญผู้ป่วยไม่ควรใช้สารสกัดกัญชาแทนการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน หรือเป็นตัวเลือกแรกทางการรักษา หรือใช้จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมา เพราะที่ผ่านมาเราพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สารสกัดจากกัญชา โดยมีตั้งแต่ ง่วงซึม เวียนศีรษะ หลับไม่รู้เรื่อง วิตกกังวล หวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้ายร่างกาย คลุ้มคลั่ง เป็นต้น จึงไม่ควรใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์เอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรม” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

   นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ในเบื้องต้นยังจำกัดการใช้ใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มโรคหรือภาวะที่ได้ประโยชน์มีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักดื้อต่อยารักษา ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล

   2. กลุ่มโรคภาวะที่สารสกัดจากกัญชาน่าจะมีประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค ควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน วิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผล เพื่อสนับสนุนการนำไปใช้ คือ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และ3.กลุ่มโรคหรือภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการศึกษาวิจัย

   ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจและปอด โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กล่าวว่า สำหรับกัญชาทางการแพทย์นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศสหรัฐอเมริกา ห้ามใช้ CBD ในผู้หญิงตั้งครรภ์ และห้ามโฆษณาอวดอ้างว่า CBD เป็นยารักษาโรค ยกเว้นโรคลมชักที่รักษายากในเด็ก คือ โรคลมชักในเด็กที่รักษายาก (Lennox–Gastaut ) และโรค Dravet เท่านั้น เพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าสาร CBD สามารถรักษาโรคอื่นๆได้

          นอกจากนี้ ยังพบว่ามีรายงานการใช้สาร CBD ในขนาดสูงทำให้เกิดตับอักเสบ ต้องเปลี่ยนตับ 3 ราย และเสียชีวิต 2 ราย  อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทย น้ำมันกัญชาควรนำมาใช้กับคนป่วยที่เป็นโรค ซึ่งแพทย์หมดทางเลือกในการใช้ยาแผนปัจจุบันแล้วเท่านั้น เพราะโทษและผลข้างเคียงของสารสกัดน้ำมันกัญชาที่เห็นได้ชัด ได้แก่ 1.คนไข้ต้องเข้าแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลต่างๆทั้งของรัฐ และเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมาด้วยอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ใจสั่นบางคนมีประสาทหลอน เพราะน้ำมันกัญชาของเราที่สกัดแบบหยาบๆมีสาร THC ซึ่งเป็นสารเสพติดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทสูงกว่าสารดี CBD ถึง 8 เท่า

          นพ.มนูญ กล่าวต่อว่า 2.มีคนไข้บางคนทิ้งยาที่รักษาประจำ หันมาใช้น้ำมันกัญชา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับแข็ง โรคไตเสื่อม โรคหลอดเลือดตีบ โรคเอดส์ ซึ่งแทนที่อาการจะดีขึ้นกลับแย่ลง เพราะหยุดยาที่ใช้ประจำ ทำให้น้ำตาล ความดันสูงขึ้น ค่าตับ ค่าไตเสื่อมลง เชื้อเอชไอวีดื้อยา ตามมาด้วยโรคแทรกซ้อนทำให้รักษายากขึ้น และบางคนใช้ทั้งยาที่กินประจำ ร่วมกับน้ำมันกัญชา ทำให้ได้ได้รับผลข้างเคียงจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกัญชากับยาที่ใช้ประจำ อาจเพิ่มหรือลดระดับของยาที่กินประจำแล้วแต่ชนิดของยาโดยที่คนกินน้ำมันกัญชาไม่ทราบ 3.ได้รับผลข้างเคียงระยะยาวจากการกินสารพิษปนเปื้อนน้ำมันกัญชาจากยาฆ่าแมลงและโลหะหนัก 4.มีความเสี่ยงระยะยาวที่จะเกิดโรคปอดอักเสบจากการสำลักน้ำมันลงปอด หากใช้หยดใต้ลิ้นในผู้สูงอายุและคนที่มีโรคทางสมองมีปัญหาทางการกลืน

          นพ.มนูญ กล่าวอีกว่า 5.มีอุบัติเหตุทางจราจรเพิ่มขึ้น เนื่องจากสาร THC ในน้ำมันกัญชามีผลต่อสมองทำให้ไม่ตื่นตัวเต็มที่ตัดสินใจผิดพลาด 6.มีคนป่วยเป็นโรคจิตเวชเพิ่มขึ้น เพราะสาร THC เป็นสารมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท กระตุ้นคนที่มีโรคทางจิตอยู่แล้ว ให้ป่วยเป็นโรคจิตเวชมากขึ้น และจำนวนคนติดกัญชาเพราะติดสาร THC ต้องเข้ารับการบำบัดกัญชาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ถ้าเราจะใช้น้ำมันกัญชาในทางการแพทย์ เราต้องควบคุม ตั้งแต่เลือกปลูกต้นกัญชาสายพันธุ์ที่สกัด CBD ได้มาก และปราศจากสารพิษ สร้างโรงงานที่มีนวัตกรรมมาตรฐานสกัด CBD ได้เกือบบริสุทธิ์ และอยากย้ำว่าตนไม่ได้กีดกันการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ แต่กัญชาควรใช้ในโรคที่มีการศึกษาวิจัยชัดเจนแล้ว