GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

ตอบข้อสงสัย “สารสกัดกัญชา” ผลกระทบต่อจิตเวช

March 29 2024
ขนาดตัวอักษร

        แม้สารสกัดกัญชา จะมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ในแง่ของการรักษากลุ่มอาการทางจิตเวช ก็ยังเกิดคำถามถึงความเป็นไปได้

  เรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า กัญชาส่งผลต่อสุขภาพจิต เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ชัดเจนว่า การใช้กัญชาเพื่อความรื่นเริง รวมถึงการใช้สารสกัดกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อสมองของผู้ใช้โดยตรง โดยในระยะยาวจะทำให้เสี่ยงต่ออาการทางจิตเวชมากขึ้น เช่น อารมณ์ซึมเศร้า หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวง ฯลฯ

  ดังนั้น สำหรับการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ก็ต้องคำนึงเรื่องสุขภาพจิตด้วย แต่การนำมาใช้รักษาภาวะทางจิตเวชนั้น ขณะนี้ยังมีเพียงหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์เพียงเล็กน้อย เช่น โรควิตกกังวล แต่ก็ยังต้องรอการวิจัยเพิ่มเติม ส่วนโรคทางจิตเวชอื่นๆ โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท และโรคจิตเวชในเด็ก ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือที่สามารถยืนยันประโยชน์จากการใช้งานกัญชาและสารสกัดจากกัญชา

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการการใช้กัญชาทางการแพทย์ขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยทางคลินิก จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช  อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรใช้เพียงเพราะความเชื่อส่วนตัวหรือจากการรับข้อมูลข่าวสารที่แชร์ตามโซเชียลมีเดียเท่านั้น โดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยัน การนำมาใช้งานอย่างไม่ถูกวัตถุประสงค์ ใช้งานเกินจริง ใช้เพื่อความบันเทิง และปราศจากการควบคุม ย่อมส่งผลเสียได้

ด้าน พ.อ. (พิเศษ) นพ.พิชัย แสงชาญชัย  จิตแพทย์กองจิตเวชและประสาทวิทยา รพ.พระมงกุฎเกล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติด สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กัญชามีสารสำคัญหลายชนิด แต่ที่ทราบกันดี คือ สารทีเอชซีที่มีผลต่อสมอง ทำให้สารสื่อประสาทในสมองมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้สารที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความคิดมีปัญหาได้ สุดท้ายทำให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ติดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นได้ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป กลายเป็นคนเฉื่อยชา ไม่มีแรงจูงใจ และระยะยาวจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตได้ โดยเฉพาะโรคจิตเภท ซึ่งจะเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา 1.4 - 2 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชอยู่เดิม หากไปใช้ยากัญชา โรคจิตเวชที่เป็นอยู่อาจจะกำเริบขึ้นได้

ดังนั้น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเห็นตรงกันและมีข้อแนะนำว่า 1.ควรใช้กัญชาทางการแพทย์เฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 2.หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชอยู่เดิม 3.ไม่ควรใช้ในเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะกัญชามีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งเป็นวัยที่สมองยังเจริญเติบโตได้ 4.แพทย์ผู้สั่งใช้กัญชา ควรติดตามอาการทางจิตเวชและพฤติกรรมเสพติดของผู้ป่วยที่รับยากัญชา หากมีอาการทางจิตเวชหรือเสพติดเกิดขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์  และ 5.ควรทำการวิจัยใช้สารสกัดซีบีดีที่ไม่มีฤทธิ์เสพติดในโรคจิตเวช

  " แพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ ควรต้องซักประวัติและตรวจประเมินผู้ป่วยว่า มีโรคจิตเวชอยู่เดิมหรือไม่ ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยงหรือไม่ควรใช้ยากัญชาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่หากไม่มีอาการทางจิตเวช เมื่อให้ใช้ยากัญชาก็ต้องมีการติดตามอาการทางจิตเวชที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย และประเมินติดตามดูพฤติกรรมการใช้ยากัญชาของผู้ป่วยว่า เปลี่ยนไปเป็นการเสพติดหรือไม่ ซึ่งอาจจะสังเกตโดยคนไข้ใช้ปริมาณมากกว่าที่แนะนำ มีการใช้ผิดวิธีการ นำเอายากัญชาที่แนะนำไปให้ผู้อื่นหรือเอาไปขาย คนไข้อาจจะมีการใช้สารเสพติดอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานที่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาไปสู่การเสพติดหรือไม่" พ.อ.(พิเศษ) นพ.พิชัย กล่าว

พ.อ.(พิเศษ) นพ.พิชัย กล่าวว่า โดยสรุปแล้ว ผู้ป่วยจิตเวชไม่ควรใช้ยากัญชา เพราะอาจจะทำให้อาการกำเริบได้ แต่ขณะนี้มีการวิจัยสารซีบีดีที่มีอยู่ในกัญชาและไม่มีฤทธิ์เสพติด  ซึ่งมีรายงานเคสผู้ป่วย เบื้องต้นพบว่า ใช้รักษาผู้ป่วยโรควิตกกังวล โรคกลัวสังคม (Social Phobia) โรคเครียดหลังประสบอุบัติภัย (Post-Traumatic Stress Disorder : PTSD) โรคจิตเภท และอาการนอนไม่หลับ จึงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย  อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตรับหน้าที่นำมาศึกษาวิจัย เรื่องการใช้สารซีบีดีในการรักษาโรควิตกกังวล ถ้าศึกษาเพิ่มเติมจนรู้ชัดเจนว่าเป็นประโยชน์และปลอดภัย ก็เอามาใช้ในวงกว้างได้ แต่จะต้องเป็นสารซีบีดีบริสุทธิ์ สกัดแยกออกมาจากกัญชาเลย เพื่อไม่ให้มีสารทีเอชซีปะปน ส่วนโรคอื่นๆ ก็ต้องมีการแยกศึกษาวิจัยว่าได้ผล มีประสิทธิภาพเหมือนกันหรือไม่

"การจะใช้ยากัญชานั้น ควรจะรอกัญชาที่ผลิตโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่มีมาตรฐาน รู้ปริมาณและรู้ความเข้มข้นที่ชัดเจนของสารสำคัญ ทั้งทีเอชซี และซีบีดี และต้องสั่งใช้โดยแพทย์ เพื่อจะได้แนะนำผู้ป่วยแต่ละรายได้ว่า โรคนี้อาการนี้ควรใช้จำนวนเท่าไหร่ ใช้อย่างไร เพื่อเกิดประโยชน์ต่อคนไข้ที่สุด และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยากัญชาได้" พ.อ.(พิเศษ) นพ.พิชัย กล่าวทิ้งท้าย