องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

แนวทางการใช้สารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรด กับโรคผิวหนัง

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

โรคสะเก็ดเงิน กลายเป็นอีกโรคที่ถูกจับตามองว่า สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ อาจเป็นทางเลือกในการรักษาโรคนี้ได้เรามาดูรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนัง รวมทั้งสะเก็ดเงิน จาก นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ที่ปรึกษาผู้อำนวยการด้านวิชาการ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) “ภายหลังที่กรมการแพทย์ลงนามบันทึกความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำน้ำมันกัญชา เมดิคัลเกรด ที่ อภ. จะผลิตมาใช้ในการวิจัยรักษาโรค โดยในส่วนของสถาบันโรคผิวหนัง เบื้องต้นจะดำเนินการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำมันกัญชาสำหรับโรคผิวหนัง 2 โรค ได้แก่ โรคสะเก็ดเงินและกรรมพันธุ์ผิวหนังชนิดหนังหนาแต่กำเนิด เนื่องจากเป็นโรคที่มีรายงานจากผู้ป่วยว่าสามารถใช้รักษาได้ผล แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้สารสกัดน้ำมันกัญชารักษาทั้ง 2 โรคนี้   ซึ่งสถาบันฯจะวิจัยในรูปแบบของยาทา โดยขอรับการสนับสนุนน้ำมันกัญชาจาก อภ.” นพ.เวสารัช กล่าว

  ที่ปรึกษาผู้อำนวยการด้านวิชาการ สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยความชุกของโรคในประชากรทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 2 บางประเทศพบผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 4.7 ของประชากร ในส่วนของประเทศไทยไม่มีสถิติข้อมูลที่ชัดเจน แต่พบผู้ป่วยค่อนข้างสูง  เฉพาะที่สถาบันโรคผิวหนังมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากกว่า 14,000 ครั้งต่อปี  การรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ และบริเวณผิวหนังที่เป็นสะเก็ดเงินกว้างแค่ไหน

  ทั้งนี้ หากไม่มีโรคแทรกและเป็นสะเก็ดเงินน้อยกว่าร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกายจะใช้ยาทาเป็นหลัก แต่หากเป็นเกินร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกายหรือเป็นบริเวณที่มีปัญหามากๆ เช่น บริเวณใบหน้า อวัยวะเพศ ฝ่ามือ อาจจะพิจารณาใช้การฉายแสง หรือการให้ยารับประทาน หรือยาฉีดขึ้นอยู่กับความจำเป็น เนื่องจากยาทามาตรฐานที่มีการใช้อยู่ปัจจุบันจะได้ผลดีในกลุ่มที่เป็นสะเก็ดเงินในบริเวณไม่กว้าง แต่ยังมีคนไข้จำนวนมากที่เป็นบริเวณกว้างกว่าร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ผิวหนัง กลุ่มนี้ใช้ยาทาอย่างเดียวได้ผลไม่ค่อยดี หากผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดกัญชาใช้รักษาในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินได้ผล ก็จะเป็นอีกทางเลือกให้กับคนไข้สะเก็ดเงินในการใช้รักษา

  กรณีมีโรคแทรกซ้อนก็จะรักษาตามโรคแทรกซ้อน เพราะบางครั้งสะเก็ดเงินเข้าข้อและทำให้เกิดความพิการ และโรคสะเก็ดเงินจะมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ โดยเฉพาะคนไข้ที่มีน้ำหนักเกินจะต้องมีการตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันและโรคหัวใจ เพราะกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยแวดล้อมที่จะทำให้โรคกำเริบ เช่น ความเครียด การสูบบุหรี่ ผิวแห้งแกะเกา นอนหลับไม่เพียงพอ เป็นต้น 

  ส่วนโรคหนังหนาแต่กำเนิด ในประเทศไทยพบผู้ป่วยน้อยไม่เกิน 1 ต่อแสนประชากร การรักษาจะขึ้นกับความรุนแรงและอายุของผู้ป่วย ถ้าอายุน้อยๆมักจะใช้ยาทาเป็นหลัก เพราะปัจจุบันยาที่ใช้รักษาที่ไม่ใช่ยาทา จะเป็นยากินในกลุ่มอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่ค่อยสูง ต่อเมื่อเด็กหยุดสูงแล้วจึงอาจจะพิจารณาให้ยาชนิดรับประทาน

นพ.เวสารัช กล่าวอีกว่า ในการศึกษาวิจัยนำสารสกัดกัญชามาใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินและหนังหนาแต่กำเนิด เมื่อได้รับสารสกัดกัญชาแล้วขั้นตอนการเตรียมยาใช้เวลาไม่นาน แต่ระยะเวลาการศึกษาวิจัยอย่างน้อยจะต้องใช้เวลาเป็นปี โดยสถาบันจะคัดเลือกอาสาสมัครในการวิจัยด้วยการพิจารณาผู้ป่วยที่มีความใกล้เคียงกันทั้งหมดและจำนวนมากเพียงพอ เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างสารสกัดกัญชากับยาหลอกว่าได้ผลดีหรือด้อยกว่ากัน โดยการวิจัยจะแบ่งเป็นแบบทาครึ่งตัวด้วยยาจริง อีกครึ่งตัวเป็นยาหลอก เพื่อพิจารณาประสิทธิผลเปรียบเทียบกัน

  “ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องใช้งบประมาณวิจัยเท่าไหร่ แต่เป็นยาทาจะใช้งบฯไม่มากและยังกำหนดจำนวนผู้ป่วยเป็นอาสาสมัครไม่ได้ เนื่องจากจะต้องรอความชัดเจนของปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ อภ.จะผลิตได้และส่งมอบให้สถาบันโรคผิวหนังก่อน ในการศึกษาวิจัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาจากแหล่งผลิตที่เป็นหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพราะการจะนำมาใช้เป็นยานั้น จะต้องเป็นสารสกัดกัญชาที่มีความปลอดภัย ไม่มีสิ่งเจือปน”

ที่ปรึกษาผู้อำนวยการด้านวิชาการ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญปริมาณสารสำคัญจะต้องคงที่ในแต่ละขวด ต้องทราบว่าสารสกัดดังกล่าว จะมีอัตราส่วนของวัตถุออกฤทธิ์ THC ต่อ CBD เท่าใด มีการปนเปื้อนของสารต่างๆ เช่น แคดเมียมหรือสารหนูหรือไม่  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และเพื่อให้ทราบได้ว่าการใช้สารสำคัญนั้นจะต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่จึงจะได้ผล การจะนำสารสกัดน้ำมันกัญชาจากแหล่งผลิตอื่นมาใช้ นับว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อคนไข้ได้ เพราะไม่ทราบถึงความปลอดภัยและความคงที่ของสารสำคัญ 

  นพ.เวสารัช กล่าวทิ้งท้ายว่า ในต่างประเทศยังมีการศึกษานำสารสกัดกัญชามาใช้รักษาโรคผิวหนังน้อยเช่นกัน เท่าที่เห็นมีงานวิจัยของประเทศอังกฤษที่มีรายงานใช้ในโรคตุ่มน้ำพองแต่กำเนิด เพื่อลดอาการปวด ซึ่งก็เป็นการใช้เพื่อระงับปวดเหมือนกับการใช้ในผู้ป่วยอื่นๆ ส่วนการจะวิจัยกัญชาในการรักษาสิวนั้น แล้วแต่การตัดสินใจของผู้วิจัย เนื่องจากการรักษาสิวตามมาตรฐานของปัจจุบันได้ผลดีอยู่แล้ว