องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

สารสกัดกัญชาเมดิคัล เกรด สู่การวิจัย ‘ โรคพาร์กินสัน ’

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

 ตามที่องค์การเภสัชกรรม ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกความเข้าใจ การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยจะนำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ตามข้อบ่งชี้ของทางกรมการแพทย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นจะนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบประสาท โดยสถาบันประสาทวิทยา เป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องนี้

  พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา ให้รายละเอียดเรื่องนี้ ว่า  ตามที่สถาบันประสาทได้มีความร่วมมือกับกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม ในการศึกษาการใช้น้ำมันกัญชาสำหรับรักษาโรคทางระบบประสาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีงานวิจัยรองรับแล้วว่า รักษามีประโยชน์ ซึ่งมี 2 โรค คือ ลมชักในเด็กที่ดื้อต่อการรักษา และ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกหุ้มประสาทอักเสบส่วนกลาง ในส่วนนี้จะมีการคัดเลือกผู้ป่วยและให้การรักษา และมีการเก็บข้อมูล ไม่มีการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบ แต่จะเป็นการให้ยากัญชาในผู้ป่วย ร่วมกับการใช้ยารักษาปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อดูประสิทธิภาพในการบรรเทาโรคและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

   และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ แต่ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม จะมีอยู่ 3 โรค คือ 1. โรคพาร์กินสัน ที่ควบคุมอาการไม่ได้ 2. โรคสมองเสื่อมที่มีภาวะทางจิตประสาทร่วมด้วย และ 3.ผู้ป่วยกลุ่มปวดเส้นประสาทใบหน้า

   พญ.ทัศนีย์ กล่าวอีกว่า  ทั้ง 3 โรคที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมนั้น จะต้องมีการนำเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัยในลักษณะของการให้ยากัญชาควบคู่ไปกับการให้ยาตัวเดิม (Add On Therapy) โดยให้ยากัญชาจริงๆ และยากัญชาหลอก เพื่อก่อนจะนำมาแปรผล และสรุปผล เปรียบเทียบกัน ซึ่งทั้งแพทย์ที่ทำการรักษาและผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะไม่ทราบมาก่อนว่าผู้ป่วยได้ยาจริง หรือยาหลอก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความลำเอียงในการแปรผล สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยนั้นจะมีทั้งผู้ป่วยของสถาบันประสาท และจากสถานพยาบาลอื่น ซึ่งหากมีความชัดเจนในรายละเอียดแล้วจะมีการเปิดรับสมัครกลุ่มตัวอย่างอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนจะมีการคัดกรองว่าเป็นผู้ป่วยแต่ละโรคนั้นเข้าเกณฑ์จำเป็นต้องได้รับยากัญชาหรือไม่

 อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาวิจัยจะต้องดำเนินการในผู้ที่มีอายุ 21 ปี ขึ้นไป เพราะในการศึกษาวิจัยจะต้องมีการลงนามเอกสารยินยอม ดังนั้นผู้เข้าร่วมจึงต้องเป็นผู้ป่วยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว และต้องมีพยาน 2 ฝ่าย คือ ญาติผู้ป่วย และแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ก่อน ขณะเดียวกันแม้เข้าสู่กระบวนการวิจัยแล้วผู้ป่วยสามารถถอนตัวได้หากมีปัญหาเกิดขึ้น

 สำหรับกรณีการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้น โดยหลักการ คือ ต้องเป็นโรคพาร์กินสันที่ใช้ยาแผนปัจจุบันหลายตัว แต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ก็จะให้ยากัญชาเสริมเข้าไปกับร่วมกับการใช้ยาตัวเดิม ในปริมาณเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ฐานข้อมูลผู้ป่วยโรคนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดนัก แต่มีการวางแผนคร่าวๆ ว่าจะทำการศึกษาผู้ป่วยประมาณ 60 ราย  ที่จริงอยากได้กลุ่มตัวอย่างมากกว่านี้ แต่ก็ต้องพิจารณาอีกครั้งเมื่อมีความชัดเจนว่าองค์การเภสัชกรรมจะสามารถ ส่งยากัญชาให้สถาบันประสาทมากน้อยแค่ไหน

รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคพาร์กินสัน เป็นโรคเกี่ยวกับภาวะเซลล์สมองที่อยู่บริเวณก้านสมอง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างสารเคมีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แต่เมื่อเซลล์นี้เสื่อมไป มีการผลิตสารเคมีตัวนี้ลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุ มีบางส่วนที่เซลล์ดังกล่าวเสื่อมสลายไปทั้งๆ ที่อายุยังไม่มาก ซึ่งเมื่อเซลล์เสื่อมสลาย จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ มีอาการมือสั่น ทรงตัวไม่ดี เคลื่อนไหวไม่ดี เดินช้า เดินลำบาก ก้าวขาสั้น แกว่งแขนน้อย กลับตัวลำบาก พูดช้า พูดลำบาก เสียงเบาลง มีปัญหาเรื่องการกลืนลำบาก เสี่ยงสำลักอาหารติดคอ

 พญ.ทัศนีย์  กล่าวอีกว่า ส่วนการรักษาปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเซลล์เสื่อม ดังนั้น จึงต้องรักษาด้วยการให้ยาทดแทนสารเคมีในสมองไปตลอดชีวิต แต่เมื่อรักษาด้วยยานี้ไปนานๆ ร่างกายของผู้ป่วยทุกรายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะดื้อยา ต้องทานยาบ่อยขึ้น หรือไม่ได้ผล โดยพบว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดการดื้อยาหลังจากมีการใช้ไปนานๆ เกิน 5 ปี หากเปลี่ยนยา ปรับสูตรยาแล้วยังไม่ได้ผล ก็จะมีการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสารเคมีในสมอง แต่เนื่องจากเครื่องดังกล่าวมีราคาแพงมาก ราคาเครื่องละเกือบ 1 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถใช้ได้เฉพาะผู้ป่วยบางรายที่สามารถเบิกจ่ายได้