องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

รวบเครือข่ายจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ออนไลน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต

27 ตุลาคม 2564
ขนาดตัวอักษร

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 ที่กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลางโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รักษาราชกาาแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และภก.กิตติ ระหงษ์ ผู้อํานวยการกองการขายภาคเอกชน ฝ่ายการตลาดและการขาย องค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมเครือข่ายผู้ต้องหาลักลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ทางสื่อออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ระดมตรวจค้นเป้าหมาย 8 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี และ นนทบุรี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย พร้อมยึดยาฟาเวียร์ ของกลาง จำนวน 390 กล่อง

โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งให้การว่า ยาดังกล่าว ได้มาจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งสั่งซื้อในนามโรงพยาบาลจากองค์การเภสัชกรรม แล้วนำออกมาจำหน่ายเพื่อหากำไร โดยมีราคาต้นทุนอยู่ที่ กล่องละ 1,600 บาท แต่เมื่อนำมาจำหน่ายทางสื่อออนไลน์สามารถจำหน่ายได้ในราคาถึง กล่องละ 4,000-8,000 บาท ซี่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด พร้อมสืบสวนขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พระราชบัญญัติวิชาชีพ เภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยาฟาวิพิราเวียร์ ยี่ห้อฟาเวียร์ ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่าย และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคประจำตัวต่าง ๆ จึงไม่สามารถจำหน่ายให้กับประชาชนตามช่องทางทั่วไปได้ ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทาง สื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

ขอบคุณข้อมูล : www.fda.moph.go.th