องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

โรงงานผลิตวัคซีน องค์การเภสัชกรรม(GPO) คว้ารางวัลระดับโลก 'FOYA' 2021

21 สิงหาคม 2564
ขนาดตัวอักษร

   
    โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรม คว้ารางวัลระดับโลก “FOYA” 2021 สาขา Social Impact จากสมาคม ISPE เตรียมเข้ารับรางวัลเดือนตุลาคม 2564 เชื่อมั่นโรงงานนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับไทยได้อย่างยั่งยืน



     นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ของ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นโรงงานตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เข้าร่วมการประกวดรางวัล Facility of the Year Awards 2021 (FOYA) ของสมาคม International Society for Pharmaceutical Engineering หรือ ISPE ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติมีสมาชิกที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีและวิศวเภสัชกรรมกว่า 18,000 ราย อยู่ในมากกว่า 90 ประเทศ โดยคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลซึ่งล้วนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่โดดเด่น และมีประสบการณ์ระดับโลกมากมาย ได้พิจารณาให้โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ ของ อภ.รับรางวัลสาขา Social Impact จาก 6 สาขารางวัลที่มีการจัดมอบปีนี้ทั้งหมด ได้แก่ สาขา Facility Integration สาขา Operational Excellence สาขา Project Execution สาขา Process Intelligence and Innovation สาขา Social Impact และรางวัลพิเศษ Special Recognition Award for Operational Agility: COVID-19 Impact
 

     “การที่โรงงานผลิตวัคซีนได้รับรางวัลระดับโลกในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพ สร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านวัคซีนให้กับประเทศไทย ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรค

     โดยพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในงาน ISPE Annual Meeting and Expo ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2564 ที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา”

     ด้าน นายกิตติศักดิ์ ภูพิพัฒน์ผล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวัคซีนและชีววัตถุ กล่าวว่า โรงงานผลิต(วัคซีน)ชีววัตถุ ของ องค์การฯที่ ได้รับรางวัลระดับโลกครั้งนี้ มีผลงานที่โดดเด่น ด้านนวัตกรรมการพัฒนาและผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ได้นำเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโดยใช้ไข่ไก่ฟักที่มีศักยภาพและความพร้อมอยู่แล้ว มาปรับใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยองค์การฯได้ นำเชื้อไวรัสตั้งต้นที่ได้รับจากองค์กร PATH ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง PATH กับโรงเรียนแพทย์ Icahn School of Medicine at Mount Sinai และมหาวิทยาลัยเทกซัส (University of Texas at Austin) มาวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้การศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 1 ได้ผลการวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้ว และจะดำเนินการในระยะที่ 3 ต่อไป โดยจะเริ่มทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมหลังจากวัคซีนได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าภายในปี 2565 จะยื่นขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อนำมาใช้ได้ โดยมีกำลังการผลิต 20-30 ล้านโดสต่อปี”

     “ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เชิงสังคม สร้างความมั่นคงยั่งยืนด้านวัคซีนของประเทศไทย เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนทั้งสถานการณ์ปกติและป้องกันการขาดแคลนของวัคซีนในประเทศจากสถานการณ์การระบาดของโรคหรือเมื่อเกิดวิกฤตด้านสุขภาพภายในประเทศต่าง ๆ โรงงานถูกออกแบบให้มีความยั่งยืนเป็นโรงงานสีเขียว (Green Factory) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยของเสียออกสู่ภายนอก ด้วยระบบการกำจัดของเสียจากกระบวนการทำงานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ลดการปล่อยคาร์บอน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop ) ทุกอาคาร ซึ่งเป็นมิตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”