องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ย้ำอีกครั้ง! ขั้นตอน ปลูก ผลิตกัญชาทางการแพทย์ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        ประเด็นเกี่ยวกับการอนุญาตปลูก ผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ  (ฉบับที่ 7)  พ.ศ. 2562 เกิดคำถามว่า มีหน่วยงานใดบ้างที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายสามารถปลูก ผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาได้    

  อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองนั้น ได้มีความชัดเจนจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้การขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกกัญชา มี 7 ประเภท  ประกอบด้วย

            1. เพื่อการบริหารยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์ในประเทศ

            2. เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม

            3. เพื่อประโยชน์ของทางราชการ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด และความร่วมมือระหว่างประเทศ

            4. เพื่อการผลิตเพื่อส่งออก และส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา  

            5. เพื่อการผลิตซึ่งกระทำโดยการปรุงยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาสำหรับคนไข้เฉพาะราย ของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย

            6. เพื่อรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย

            7. กรณีผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชาติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวภายในเก้าสิบวัน

          นอกจากนี้ ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออก ให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา โดยการปลูกกัญชาต้องดำเนินการในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้นในการปลูกทุกครั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ เนื้อเยื่อ หรือวิธีการอื่นตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว และจัดทำแนวเขตพื้นที่การเพาะปลูกที่เห็นได้ชัด ซึ่งต้องจัดให้มีการสุ่มวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบหาปริมาณสารสำคัญในกัญชา เช่น Cannabidiol (CBD) หรือ Tetrahydrocannabinol (THC) สารปนเปื้อน โลหะหนัก หรือสารอื่นๆ ในการปลูกทุกครั้ง ตามมาตรฐานที่กำหนด และเก็บหลักฐานการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ณ สถานที่ที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ในกรณีที่ผู้รับอนุญาต ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ต้องจัดให้มีการสุ่มวิเคราะห์ดังกล่าวโดยผู้รับอนุญาตอื่นที่รับผลผลิตจากผู้รับอนุญาตปลูกไปดำเนินการแปรรูปหรือผลิตต่อไป

รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จะผลิตหรือนำเข้า ซึ่งตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ต้องขอการรับรองตำรับต่อผู้อนุญาตก่อน และเมื่อได้รับหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์แล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้า ซึ่งตำรับยาเสพติดให้โทษนั้นได้ ส่วนการศึกษาวิจัย ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามแบบที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ นพ. สุรโชค​ ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 มีอีกหลายหน่วยงานที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์​ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือร่วมกับหน่วยงานของรัฐสามารถทำได้หมด ในส่วนของการแจ้ง เพื่อขอทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์นั้น ก็ยังสามารถทำได้ตลอด​ เนื่องจากกฎหมายมีการอนุญาตให้ขออนุญาตได้ แต่ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ จะเป็นหน่วยงานรัฐใดก็ได้

          

ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สามารถดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่เตรียมยื่นขออนุญาต​ นอกจากนี้ หากต้องการทำวิจัยก็สามารถทำได้ เช่น โรงพยาบาล หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ยื่นเรื่องขอทำการวิจัยเช่นกัน แต่หากจะนำมาใช้ทางการแพทย์ก็ต้องมีลักษณะโครงการที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์​ที่ชัดเจน เช่น​ ในส่วนของมหาวิทยาลัย ต้องมีความสัมพันธ์กับ​ คณะแพทยศาสตร์​ คณะเภสัชศาสตร์​ หรือโรงพยาบาล​ หรือใครก็ตามที่ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน​ เนื่องจากกฎหมายระบุชัดว่าต้องใช้ในการวิจัยทางการแพทย์

ทั้งนี้ หากสรุปโดยสังเขป ผู้ที่จะปลูกได้ ประกอบไปด้วย 1. หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ 2. หน่วยงานที่เกี่ยวกับทางการเกษตร​ เช่น​ วิสาหกิจชุมชนไปร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาสายพันธุ์ว่าสายพันธุ์ไหนดีหรือไม่ดีก็สามารถมาขออนุญาตได้​ แต่ต้องมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขออนุญาต​ และ 3.หน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชน​ เป็นต้น

ส่วนการขออนุญาตปลูกนั้น ประกอบด้วย 

          1. สถานที่เพาะปลูก ต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 

          2. ต้องระบุปริมาณการปลูก  

          3. ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้ขอรับอนุญาต 

          4. มาตรการรักษาความปลอดภัยต้องมีรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา

          5. รายละเอียดการดำเนินการ แบ่งเป็น กรณีปลูกเพื่อประโยชน์ของทางราชการการแพทย์และกรณีปลูกเพื่อศึกษาวิจัย

          6. ข้อมูลทั่วไปของผู้ขอรับอนุญาต หากปลูกต้องมีการระบุว่าจะนำสายพันธุ์กัญชามาจากที่ใด เช่น​ ขอมาจากของกลางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องมีการทำเรื่องขอของกลางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ​ หรือหากจะมีการนำเข้าสายพันธุ์ก็ต้องมีการอนุญาตการนำเข้า ดังนั้น ขอย้ำว่าในการที่จะทำอะไรต้องขออนุญาตทุกขั้นตอน

“ เมื่อได้เอกสารครบถ้วนแล้วหน่วยงานของรัฐก็ต้องเป็นผู้ลงนาม หลังจากนั้นจึงมายื่นขออนุญาตที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่ง อย. จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการยาเสพติดเพื่อให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีการประชุมกันทุกเดือนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในกรณีครบ 5 ปี หากเอกชนยังมีความประสงค์ที่จะดำเนินการต่อนั้น จะต้องมีการมาขออนุญาตจากทางคณะกรรมการยาเสพติด เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุม และขอย้ำว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามเกี่ยวกับกัญชาทุกขั้นตอนจะต้องมีการขออนุญาตทุกครั้ง เพราะพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ระบุชัดว่า คลายล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย” นพ.สุรโชค กล่าวทิ้งท้าย

  อนึ่ง ข้อมูลล่าสุดที่มีการประสานเพื่อขออนุญาตปลูก ผลิต รวมทั้งวิจัยกัญชาทางการแพทย์ มีประมาณ 6-7 หน่วยงานที่มาขออนุญาต เช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน และโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  (มทร.อีสาน) เป็นต้น ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว