GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

สายพันธุ์กัญชากับสารสำคัญทางการแพทย์

April 19 2024
ขนาดตัวอักษร

        ณ ช่วงเวลานี้ประเด็น “กัญชา” กลายเป็นประเด็นที่สังคมจับตามองเป็นอย่างมาก ไม่ใช่แค่ว่า โอกาสที่จะได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่หลายคนก็สนใจใคร่รู้ถึงประเด็นของ สายพันธุ์กัญชาว่า จริงๆแล้ว สายพันธุ์ไหนที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุด

        เรื่องนี้มีคำตอบจาก  รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. มาให้ความรู้กัน ว่า    ตัวกัญชาจะมีสารที่เรียกว่า    “แคนนาบินอยด์”  ซึ่งในแต่ละโรค จะใช้สารแคนนาบีนอยด์  ที่มีทั้ง THC และ CBD  และยังมีสารอื่นๆ อีก 150 ตัว โดยทั่วโลกต่างพยายามค้นหาว่า ตัวไหนเหมาะกับโรคอะไร และการจะหาให้เหมาะกับโรคได้นั้น จำเป็นต้องหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะพบสารที่มีแต่ในดอก เพื่อสกัดออกมา

        “ดังนั้น การหาสายพันธุ์จึงมีผลต่อการสกัดสารออกมาใช้ประโยชน์ด้วย   ทำให้องค์การเภสัชกรรมได้มีการดำเนินการและปลูกกัญชาทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ซึ่งเดิมทีคนมักบอกว่า เอาแบบ THC และ CBD ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 นั้นแต่จริงๆไม่ใช่ อย่างโรคลมชัก ต้อง CBD ล้วนๆ  ขณะที่พันธุ์ไทยอย่างเดียวเราพบว่ามีสาร THC สูง   จึงจำเป็นต้องปลูกแยกออกเป็น 3 สายพันธุ์ใน 3 กลุ่มคือ ที่มี THC สูง ที่มี CBD สูง และที่มีทั้ง THC และ CBD ในสัดส่วนเท่ากันคือ 1 ต่อ  1  ซึ่งในกลุ่ม 1 ต่อ 1 นั้น จะเอามาทดลองของสถาบันโรคมะเร็ง” รศ.ดร.วิเชียร กล่าว   รศ.ดร.วิเชียร กล่าวเพิ่มเติม ว่า    การปลูกเช่นนี้จะตอบโจทย์ความต้องการของการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้มาก  ยกตัวอย่าง หากมีงานวิจัยที่ระบุว่า ต้องการสาร THC และ CBD ในสัดส่วน 3 ต่อ 1  ทางองค์การเภสัชกรรมก็สามารถนำมาผสมได้  เรียกว่า หากงานวิจัยใดต้องการแบบใด ก็จะสามารถนำมาผสมให้ได้ตามสัดส่วนตามงานวิจัยนั้นๆ  จึงเป็นที่มาของการปลูก 3 สายพันธุ์นั่นเอง

 

       

โดยสายพันธุ์ทั้ง 3 สายพันธุ์นั้นเป็นลูกผสม เนื่องจากหากใช้สายพันธุ์เดี่ยวๆ จะไม่ได้สารที่ต้องการ เพราะจะได้แค่สารโดดๆ เท่านั้น  องค์การเภสัชกรรม จึงต้องทำตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มโรคเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันกัญชาสำหรับ  4 กลุ่มแรกที่มีข้อมูลงานวิจัยว่ามีประโยชน์  คือ

        1. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 2. ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล 3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ 4. ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล   รวมไปถึงโรคใหม่ๆ ที่อยู่ในขั้นวิจัย ก็ต้องมีสารโดดๆ ที่เหมาะสมเตรียมพร้อมด้วย เช่น โรคมะเร็ง พาร์กินสัน ก็แล้วแต่แพทย์ บอกมา ก็จะนำมาผสม เรียกว่า ทำเป็นตัวกลางมาตรฐานที่สามารถนำมาผสมตามสัดส่วนที่แพทย์ในโครงการวิจัยนั้นๆต้องการได้  

 

       

รศ.ดร.วิเชียร อธิบายว่า สำหรับ 3 สายพันธุ์ดังกล่าว เป็นสายพันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกใช้สายพันธุ์ลูกผสมหมด  ระหว่าง   Sativa  และ Indica ส่วนพันธุ์ไทยมี THC สูงที่วิเคราะห์ออกมาคือ  8 ส่วนถึง 10 ส่วนต่อ 1 ส่วนของ CBD  

        โดย THC  มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือที่เรียกว่า   psycho active  ส่วน CBD    ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และอาจจะทำให้ฤทธิ์ของ THC  น้อยลงด้วย ดอกกัญชาแต่ละชนิด จะมีฤทธิ์กล่อมประสาทหรือจะมีฤทธิ์ทำให้ผ่อนคลาย โดยไม่เมา ก็ขึ้นกับสัดส่วนของ  THC : CBD   ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมสำคัญกว่าปริมาณของ   THC และ  CBD     

        หลายคนอาจสงสัยว่า  สายพันธุ์ลูกผสมขององค์การเภสัชกรรมมีสายพันธุ์ไทยด้วยหรือไม่  เรื่องนี้ รศ.ดร.วิเชียร อธิบายว่า สายพันธุ์ลูกผสมมี Sativa  ผสมอยู่ด้วย  ซึ่งสายพันธุ์ไทยก็จัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ Sativa     เนื่องจากพันธุ์ Sativa เป็นชื่อรวม  ซึ่งพันธุ์ไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ โดยเป็นสายพันธุ์ที่มีกำเนิดอยู่ในเส้นศูนย์สูตร  พบในอินเดีย จาไมก้า โคลัมเบีย ส่วนพันธุ์   Indica  มีกำเนิดอยู่ในเอเชียกลาง เส้นรุ้งที่ 25-35 องศาเหนือ ส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่มีพันธุ์เดี่ยวๆแล้ว แต่พันธุ์ไทยเป็นพันธุ์  Sativa เพียวๆเลย ซึ่งในอินเดีย จาไมก้าก็มี ยังคงความบริสุทธ์อยู่  อย่างไรก็ตาม ตนอยู่ระหว่างปรับปรุงพันธุ์ไทยด้วย เพื่อให้มีสาร CBD เพิ่มขึ้นด้วย

 

     

  “พันธุ์ไทยอย่างเดียวก็มีประโยชน์ อย่างลดอาการข้างเคียงจากการใช้คีโมของโรคมะเร็ง แต่ก็อย่าลืมว่า แต่ละต้นของพันธุ์ไทย พันธุกรรมไม่เหมือนกัน ซึ่งเวลาเราปลูกเราต้องปลูกเพื่อให้ได้สาร ให้ได้พันธุกรรมเหมือนกันหมดด้วย จึงเป็นที่มาของการปลูกกัญชาที่ให้ได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ เนื่องจากเมื่อจะผลิตเป็นยาก็ต้องให้ได้มาตรฐานความเป็นยาด้วย  กล่าวได้ว่า  กัญชาสายพันธุ์ที่องค์การเภสัชกรรมปลูกนั้น ทุกต้นจะต้องมีพันธุกรรมเหมือนกันหมด เพื่อให้ได้สารที่ออกมาเสถียรนั่นเอง รศ.ดร.วิเชียร กล่าวทิ้งท้าย