องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูลผลิตภัณฑ์

ใกล้ความจริง น้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด จากต้นอ่อน-ออกดอก สู่สารสกัดเพื่อผู้ป่วย

20 พฤศจิกายน 2562
ขนาดตัวอักษร

        นับตั้งแต่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) แถลงความคืบหน้าโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ “กัญชาเมดิคัลเกรด ออกดอกแล้ว”  เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

        เราลองมาดูขั้นตอนกันดีกว่าว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการในการปลูกต้นอ่อนกัญชาถูกกฎหมาย กระทั่งการออกดอก จนนำไปสู่เป้าหมายผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อทางการแพทย์ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

        เรื่องนี้มีคำตอบจาก นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เล่าถึงจุดเริ่มต้น ว่า อภ.เริ่มปลูกต้นกัญชาทางการแพทย์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงงานผลิตยารังสิต จ.ปทุมธานี มีการปลูกทั้งหมด 3 ประเภท คือ กัญชาที่ให้สารทีเอชซี(THC) สูง กลุ่มที่ให้สารซีบีดี(CBD)สูง และกลุ่มที่ให้สารเท่ากันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ใช้เทคโนโลยีปลูกระบบรากลอย มีการควบคุมคุณภาพ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี โดยใช้มาตรฐานการเกษตรที่ดี เพื่อให้ได้สารสำคัญตามที่ต้องการสม่ำเสมอ ซึ่งขณะนี้ต้นกัญชาทั้งหมด 140 ต้น ออกมาเป็นต้นตัวเมียทั้งหมด ไม่มีต้นตัวผู้หรือต้นกะเทยปะปนเลย เพราะหากมีต้นตัวผู้เข้ามาปะปนจะต้องกำจัดทิ้งทันที เนื่องจากจะทำให้เกิดการผสมแทนที่จะได้ดอกกัญชาที่มีสารสำคัญตามที่ต้องการ ก็จะได้เป็นเมล็ดแทน

        หลังจากปลูกต้นอ่อนกัญชาเหล่านี้ประมาณ 2 เดือนกว่า ตอนนี้ต้นกัญชาทั้งหมดเริ่มออกดอกแล้วระหว่างนี้ก็ต้องดูแลต้นกัญชาเป็นอย่างดี โดยจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 8-10 สัปดาห์ หรือช่วงต้นเดือน กรกฎาคม 2562 ดอกจะโตเต็มที่ มีสารสำคัญสมบูรณ์ โดยขนสีขาวของดอกกัญชาจะเริ่มเปลี่ยนสีมีสีน้ำตาลปน ก็จะเก็บเกี่ยวดอกกัญชา เพื่อมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นได้

 

        ประธานบอร์ด อภ. อธิบายเพิ่มเติมว่า การสกัดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงคาดว่าจะได้น้ำมันกัญชาล็อตแรกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม  2562 นี้ ในจำนวน 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร ซึ่งจะมีทั้งขวดที่มีสารทีเอชซีสูง สารซีบีดีสูง และอัตราส่วนสารทั้งสองเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง เพื่อให้แพทย์รับทราบและพิจารณาได้ง่ายต่อการนำไปใช้รักษาแต่ละโรค อย่างโรคลมชักต้องใช้น้ำมันกัญชาที่มีสารซีบีดี ส่วนอาการอาเจียนจากการรับยาเคมีบำบัดต้องใช้สารทีเอชซี โดยอาจพิจารณาอาการของโรคว่าควรจะใช้ปริมาณเท่าไร เป็นต้น  

         “นอกจากโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์  องค์การเภสัชกรรม ยังมีแผนดำเนินงานเฟส 2  โดยจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก 6 เท่า ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ภายในต้นปี 2563 ที่ จ.ปทุมธานี และเฟสที่ 3 จะเป็นการปลูกขนาดใหญ่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี แต่ยืนยันว่าไม่มีการผูกขาด เพราะอนาคตเมื่อมีการใช้มากขึ้น ก็ต้องมีแหล่งปลูกและแหล่งผลิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็มีการเปิดให้กลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนและร่วมกับภาครัฐในการปลูกเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยหรือผลิตยา”  นพ.โสภณ กล่าว

 

        ด้าน รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า  หลังจากกัญชาเริ่มออกดอกจากนี้ไปในอีก 8-10 สัปดาห์ ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนไหวมาก เหมือนกับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องให้แสงเพียงพอ มีการให้คาร์บอนไดออกไซด์ ปรับออกซิเจน ปรับชนิดของปุ๋ยให้พอดี เพื่อให้ได้สารสำคัญที่สมบูรณ์มากพอ และเมื่อขนสีขาวของของดอกกัญชาเปลี่ยนเป็นสีน้ำนมและสีน้ำตาลอมส้ม ก็จะเก็บเกี่ยวดอกมาตากแห้งที่ควบคุมแสงและอุณหภูมิ และนำไปสกัดในที่สุด โดยเฉพาะสารทีเอชซีซึ่งเป็นกรดอยู่ ต้องทำให้กรดหายไปเป็นสารทีเอชซีบริสุทธิ์

 

        ที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม ยังทิ้งท้ายว่า  ในอนาคตจะมีการปลูกและขยายผลิตผลให้มากกว่าขึ้น และพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยให้มีปริมาณสารสำคัญตามที่ต้องการ โดยเฉพาะสารซีบีดี ที่สายพันธุ์ไทยมีน้อย ทำให้ไม่เหมาะสมกับการรักษาบางโรค รวมถึงพัฒนาวิธีการปลูกในโรงเรือนและการปลูกกลางแจ้ง ที่มีความยาก เพราะกัญชาเป็นที่ชื่นชอบของโรคและแมลง ก็ต้องหาวิธีการปลูกให้กัญชาแข็งแรง ได้มาตรฐานทางการแพทย์