GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

GPO :

INNOVATIVE CARE FOR LIFE

Login to Product information center

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เดินหน้าปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดในโรงเรือน และกลางแจ้งที่เหมาะกับประเทศไทย

April 19 2024
ขนาดตัวอักษร

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) พัฒนาการเพาะปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ ในโรงเรือน (Greenhouse) และกลางแจ้ง (Outdoor) ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เพื่อให้ได้ผลผลิตจากกัญชาหลากหลายสายพันธุ์ ที่สร้างสารสำคัญสูง ทั้ง CBD เด่น, THC เด่น, CBD : THC (1:1) รวมทั้งสายพันธุ์ไทย พร้อมทำการศึกษา และพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับประเทศไทย ช่วยผู้ป่วยและประชาชนเข้าถึงยาจากสารสกัดกัญชาเพิ่มขึ้น

วันที่ 8 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse)” โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ร่วมในพิธี

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและมีความตั้งใจจริงที่ให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทางการแพทย์มีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมและปลอดภัย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ ผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา เช่น ผลิตภัณฑ์ CBD เด่น ผลิตภัณฑ์ THC เด่น ผลิตภัณฑ์ THC : CBD 1 : 1 ขององค์การเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม และผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาตำรับหมอพื้นบ้าน  

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า การปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) มาตรฐานเมดิคัลเกรดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้เป็นการกระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งจะต้องดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ครบวงจร ตั้งแต่การเพาะปลูกกัญชาให้ได้วัตถุดิบที่มีสารสำคัญได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด ปราศจากสารพิษ สารเคมี การแปรรูป การสกัด และการผลิตเป็นยา ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพียงพอกับความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และลดต้นทุนต่อหน่วยให้มีราคาถูกลง รวมทั้งการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการเก็บข้อมูลการรักษาเพื่อนำไปศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มขึ้นจึงขอให้สถานพยาบาลนำผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้มาตรฐานไปใช้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากขึ้นและให้ประเทศไทยมีข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นมาตรฐาน มีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทยเองเป็นทางเลือกในการนำยาจากกัญชาไปใช้ในการรักษาโรคหรืออาการของโรคต่าง ๆ

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้โครงการสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯ อยู่ในระยะที่ 2 เพื่อขยายกำลังการผลิตทั้งด้านการเพาะปลูก และด้านการสกัดให้เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยขยายพื้นที่การเพาะปลูกแบบ Indoor เพิ่มอีก 1,700 ตารางเมตร ด้วยระบบน้ำหยด (Drip irrigation system) อยู่ระหว่างการก่อสร้างและติดตั้งระบบเพาะปลูก โดยมีคณะผู้สังเกตการณ์จากโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมสังเกตการณ์ และมีการขยายกำลังการผลิตสารสกัดเบื้องต้น สามารถรองรับการผลิตสารสกัดประมาณ 800 กิโลกรัมต่อปี สามารถผลิตยาจากสารสกัดกัญชาประมาณ 8,000 ลิตร ที่ฝ่ายเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม คลอง 10 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

นอกจากนี้ ได้สร้างโรงเรือน (Greenhouse) พร้อมติดตั้งเทคโนโลยีระบบการเพาะปลูกอีก 4 โรงเรือน 3 ระบบที่มีการสร้างสภาวะการปลูกที่แตกต่างกัน และปลูกกลางแจ้ง (Outdoor) บนพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก ตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต

ในระยะต่อไปจะผลิตในระดับอุตสาหกรรม ขยายการปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน องค์กร หน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตสารสกัดให้มากขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ครีม แผ่นแปะ ยาเหน็บ แคปซูลเจล
เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้นและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย


สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 1 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับการวิจัยและพัฒนาดำเนินการวิจัยและผลิตดอกกัญชาและผลิตยาจากสารสกัดกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) โดยปลูกแบบ Indoor ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์บนพื้นที่ 100 ตารางเมตรขององค์การฯ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 นับเป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายต้นแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ทำการเพาะปลูกและผลิตเป็นยาจากสารสกัดกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual drop ) และกระจายให้สถานพยาบาลต่างๆไป แล้วจำนวน 3 รอบการเพาะปลูก มี 3 สูตร ได้แก่สูตร THC:CBD 1:1 ใช้ในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือใช้ตามแพทย์สั่ง สูตร CBD ใช้ในผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา หรือใช้ตามแพทย์สั่ง และสูตร THC เด่น ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร (ใน 1 หยด ประกอบด้วย THC 0.5 มิลลิกรัม) ซึ่งผลการศึกษาการนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รับประทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับ เจ็บปวดน้อยลง การชักเกร็งลดลง ลดการอาเจียน

ด้านนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การดำเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse) และกลางแจ้ง (Outdoor) บนพื้นที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการในระยะที่ 2 เป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรมใช้พื้นที่ในการดำเนินการ 1,552 ตารางเมตร รองรับการปลูกกัญชาได้ประมาณ 1,300 ต้นต่อปี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทยและจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาในอนาคต โดยเน้น 3 สายพันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นทางการแพทย์ ทั้ง CBD เด่น THC เด่น CBD : THC (1:1) และสายพันธุ์ไทย ดำเนินการปลูกในโรงเรือน (Greenhouse) 3 ระบบ ได้แก่ ระบบที่ 1 โรงเรือนแบบลดอุณหภูมิด้วยการระเหยน้ำ (Pad and fan) จำนวน 1 โรงเรือน โดยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศผ่านแผ่นทำความเย็นเพื่อให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำ น้ำจะดูดซับพลังงานจากอากาศในรูปของความร้อนแฝง ทำให้อากาศที่สูญเสียความร้อนไปกับการระเหยของน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง จึงเป็นระบบที่สามารถลดอุณหภูมิได้และมีต้นทุนต่ำ แต่ไม่สามารถควบคุมความชื้นได้ เหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะเจริญทางลำต้น

ระบบที่ 2 โรงเรือนแบบผสมผสานควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ( Hybrid air conditioner and dehumidifier, HAC) 1 โรงเรือน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นได้ดีรวมทั้งกรองอากาศและป้องกันโรค อาทิ ราชนิด botrytis และราแป้ง โดยระบบ HAC มีการทำงานผสมผสานระหว่าง compressor ที่ใช้น้ำยาแอร์ ร่วมกับ LiCl solution ซึ่งสามารถทำความเย็นและลดความชื้นได้ดีกว่าการติดตั้ง air conditioner อีกทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าเพียง 19 % เมื่อเทียบกับการติดตั้ง air conditioner และระบบควบคุมความชื้น (Dehumidifier) ที่เหมาะสม จึงเหมาะสำหรับปลูกกัญชาทางการแพทย์ในช่วงระยะออกดอก เพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชาที่มีคุณภาพ

ระบบที่ 3 โรงเรือนแบบระบายอากาศธรรมชาติ (Open air) จำนวน 2 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบเปิดมีหลังคาเพื่อป้องกันหยาดน้ำฟ้า และติดตั้งตาข่ายสำหรับกันแมลงขนาดใหญ่ เป็นโรงเรือนที่ต้นทุนต่ำทั้งราคาโรงเรือนและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ซึ่งจะใช้สำหรับการศึกษาวิจัยวิธีการเพาะปลูกกัญชาในสภาพอากาศธรรมชาติ รวมทั้งคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูงให้เหมาะกับสภาพอากาศในประเทศไทย นอกจากนั้นยังได้ทำการปลูกแบบกลางแจ้ง(Outdoor) เพื่อศึกษา วิจัยพัฒนาควบคู่กันไปด้วยในพื้นที่บริเวณเดียวกัน

“การดำเนินการดังกล่าวจะได้องค์ความรู้จากการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกตลอดจนพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ที่ให้สารสำคัญสูงและเหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย และจะสามารถลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาได้ในอนาคต ทำให้องค์การเภสัชกรรมสามารถนำกัญชามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เข้าถึงยาอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป”