องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายประชุมปรึกษาหารือ ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ของประเทศ

11 กันยายน 2563
ขนาดตัวอักษร

               วันนี้ (11 กันยายน 2563) เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุมฟินิกซ์ 2-6 อาคาร 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมติดตามความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19(COVID-19)          ของประเทศไทย  โอกาสนี้ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และคณะผู้วิจัยวัคซีน ร่วมในพิธี และนายกิตติศักดิ์ ภูพิพัฒน์ผล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ร่วมนำเสนอแผนการดำเนินงานวัคซีนโควิค-19 ขององค์การเภสัชกรรม

              การจัดประชุมในครั้งนี้มีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน จัดขึ้นเพื่อปรึกษาหารือและติดตามความก้าวหน้า การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการสนับสนุนและสามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              สำหรับแผนการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมกับภารกิจโควิด-19 ด้านวัคซีน ประกอบด้วย การร่วมมือ วิจัย พัฒนา กับองค์กรภายในประเทศ

               จากสถานการณ์โควิด -19 ภารกิจขององค์การเภสัชกรรม คือการผลิต จัดหา ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกัน และที่สำคัญคือการร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบ ได้แก่ การให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบ 2 ชนิด คือชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) พัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ ใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งหากวัคซีนต้นแบบนี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ องค์การเภสัชกรรมจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเพื่อพัฒนาต่อในการขยายขนาดการผลิตเป็นวัคซีนตามมาตรฐาน GMP สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิกต่อไป

            รวมถึงได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV2 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza virus-based COVID-19 vaccine) เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักขององค์การเภสัชกรรมที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม นำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกต่อไป คาดว่าการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิด จะทราบผลเบื้องต้นในปลายปี 2563

ประสานจัดหาวัคชีนจากผู้ผลิตในต่างประเทศมาแบ่งบรรจุ

                ในส่วนของความร่วมมือกับต่างประเทศ องค์การเภสัชกรรมยังได้มีการประสานเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศ อาทิ บริษัท Sinovac Biotech  บริษัท Novavex (ที่ผลิตจาก Serum Institute of India) และบริษัท Sino Pharm ในการนำวัคซีนโควิด-19 มาแบ่งบรรจุที่ประเทศไทย โดยใช้พื้นที่ของโรงงานผลิตวัคซีน      (ชีววัตถุ) ที่ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่ดำเนินการดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจาวิจัย พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรมเอง ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์

               นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรมยังได้รับความร่วมมือจากองค์กร PATH ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการขอรับทุนสำหรับการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ เพื่อการศึกษาระดับพรีคลินิกจากมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) และช่วยจัดหาเชื้อพันธุ์ตั้งต้นสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโควิด-19ให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้ามาผลิตเพื่อเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟัก ที่โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การเภสัชกรรม โดยในเดือนกันยายน 2563 องค์การเภสัชกรรมจะได้รับเชื้อพันธุ์ตั้งต้นที่ได้ผ่านการทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งตัวอย่างวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมไปทดสอบพิษวิทยาในสัตว์ทดลองที่ประเทศอินเดียได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และจะทราบผลการศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564  

องค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีความพร้อมอยู่แล้วสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น

                องค์การเภสัชกรรมมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด– 19 เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมมีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นทุนเดิมที่มีศักยภาพและปัจจัยพื้นฐานหลายๆด้าน สามารถนำเทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟัก เพื่อการผลิตวัคซีนมาประยุกต์ใช้สำหรับการผลิตวัคซีนโควิด– 19 ได้ นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านการวิจัย พัฒนาวัคซีน มีประสบการณ์การผลิตวัคซีน มีเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัย รองรับการผลิตทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในระดับอุตสาหกรรม ได้ในหลายรูปแบบตามผลสำเร็จของการวิจัย และพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งยังรอผลการวิจัยถึงความเหมาะสมของวัคซีนต้นแบบในการพัฒนาต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป