องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

องค์การเภสัชกรรม

สรรสร้างนวัตกรรมด้วยความใส่ใจเพื่อชีวิต

อภ.เผย ชุด PPE รุ่นเราสู้ ฝีมือคนไทย ซักใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง พร้อมส่งพฤษภาคมนี้

8 พฤษภาคม 2563
ขนาดตัวอักษร


องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผย ชุด PPE รุ่นเราสู้ แบบ Isolation Gown ฝีมือคนไทย 44,000 ชุด ซักใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง ผลิตจากวัสดุ PET รีไซเคิล พร้อมจัดสรรส่งบุคลากรทางการแพทย์ ในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดใช้ทดแทนชุด PPE ชนิดที่ใช้ครั้งเดียวได้ถึง 880,000 ชุด

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รัฐบาลได้มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้มีใช้อย่างเพียงพอ จึงได้แสวงหาความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมมาทดแทนเป็นการเร่งด่วน ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการขาดแคลน และต้องพึ่งพาตนเองได้ หนึ่งในนั้นคือ นวัตกรรม ชุด PPE รุ่นเราสู้ ซึ่งเป็นชุด PPE แบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown ) ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเหมาะสมสำหรับใช้งานทางการแพทย์ สามารถซักและใช้ซ้ำได้ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง การดำเนินการดังกล่าวเป็นความร่วมมือจากทีม PPE รุ่นเราสู้ ของภาครัฐ และ 13 บริษัทเอกชน เป็นภารกิจของคนไทยที่จะร่วมกันสู้กับบุคลากรทางการแพทย์ในภาวะโควิด 19 โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 มาถึงวันนี้ เป็นเวลา 43 วัน ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่รวดเร็วมาก และจะเริ่มทยอยส่งมอบชุด PPE จำนวนกว่า 44,000 ชุด ให้องค์การเภสัชกรรมภายในเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการกระจายเวชภัณฑ์ในภาวะโควิด 19 จัดสรรและกระจาย ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป คาดว่าจะสามารถใช้ทดแทน ชุด PPE ชนิดที่ใช้ครั้งเดียว ได้ถึง 880,000 ชุด/ครั้ง

ทั้งนี้ กระบวนการซักชุด PPE จะต้องซักด้วยอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส พร้อมใส่ผงซักฟอก และ Sodium hypochlorite 0.1% เพื่อฆ่าเชื้อ นาน 15 นาที แล้วอบแห้งด้วยอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 60 นาที ที่สำคัญห้ามใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มอย่างเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้สารเคลือบกันน้ำยังคงคุณสมบัติได้ดี

ด้านนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ชุด PPE รุ่นเราสู้ ตัดเย็บเป็นชุด Isolation gown เป็นผ้าชิ้นเดียวไม่มีตะเข็บข้าง การเย็บเป็นลักษณะกุ๊น (Piping Seam) และด้ายที่ใช้เย็บเป็นลักษณะด้ายกันน้ำ ชุดกันน้ำได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังทั้งตัวเสื้อและตะเข็บ ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดโพลีเอสเตอร์ (Polyester) 100% เคลือบสารที่มีคุณสมบัติทำให้ผ้ากันน้ำได้ เนื้อผ้าและตะเข็บต้องสามารถใช้ซ้ำ (Reuse) ได้อย่างน้อย 20 ครั้ง อ้างอิงตามมาตรฐาน ANSI/AAMI PB70 ในระดับที่มากกว่าหรือเท่ากับระดับที่ 2 (Level 2) สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดันได้ (Hydrostatic pressure) มากกว่าหรือเท่ากับ 20 cmH2O อ้างอิงมาตรฐาน AATCC 127 ป้องกันการซึมผ่านของน้ำจากการกระแทก (Water impacting penetration) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 กรัม อ้างอิงมาตรฐาน AATCC42 นั้น โดยในขั้นตอนเตรียมการผลิตตัดเย็บ (Preproduction sample ) นั้น บริษัทที่ร่วมดำเนินการผลิตทั้ง 13 ราย ได้ส่งตัวอย่างชุด PPE แบบ Reusable isolation gown ให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ ทำการตรวจสอบคุณภาพก่อนทำการผลิตจริงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคุณภาพผ่านเป็นไปตามคุณสมบัติ

ด้านนายสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด  ตัวแทนผู้จำหน่ายผ้าที่ใช้ตัดเย็บ กล่าวว่า ผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บชุด PPE แบบ Reusable Isolation Gown ผลิตจากเส้นใย ที่รีไซเคิล จากขวดน้ำชนิดขวด PET 100% และได้รับการรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลระดับโลก (Global recycle standard) จาก คอนโทรล ยูเนี่ยน โดยชุด PPE รุ่นเราสู้ จำนวน 44,000 ชุด ผลิตมาจากขวดน้ำ PET (Polyethylene terephthalate) ขนาด 600 ซีซี จำนวนประมาณ 638,000 ขวด หรือ ประมาณ 14.5 ขวดต่อ PPE 1 ชุด

ด้านนายสมคิด รัตนประภาพร นายกสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ไทย กล่าวว่า เส้นใยที่รีไซเคิล (Recycle) นี้ ประเทศไทยเองสามารถผลิตเองได้แล้วมีผู้ผลิตหลายราย เช่น บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทเทยินจำกัด บริษัทโทเรเท็กซ์ไทล์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แต่ยังมีปัญหาเรื่องการแยกขยะ จัดเก็บให้มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำในอาเซียนที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพระดับโลกและมีความหลากหลาย ทั้งผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ผ้าเรยอน (Rayon) อะครีลิค (Acrylic)ไนล่อน (Nylon) จึงเห็นว่าถ้าประเทศไทยมีการคัดแยกขวด PET ใส่น้ำในการแยกขยะอย่างจริงจัง จะเป็นช่วยลดขยะ และสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง รวมทั้งการนำมาผลิตเป็นชุดPPE เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ใส่ป้องเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี